เสมา 1 ชื่นชม เยา
25 กันยายน 2567 / พลตำรวจ...
9 พฤษภาคม 2567 / นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า จากข้อมูลการเฝ้าระวังของศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนนและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคระบุว่า ช่วงเดือน ม.ค. – มี.ค. ที่ผ่านมา เกิดอุบัติเหตุรถรับส่งนักเรียนถึง 15 ครั้ง มีนักเรียนเสียชีวิต 1 คน และบาดเจ็บ 153 คน โดยสาเหตุเกิดจากความประมาทของผู้ขับขี่หรือผู้ประกอบการ ขับรถเร็ว ง่วงแล้วขับ ในส่วนของมาตรฐานพบว่า รถรับส่งนักเรียนบางส่วนไม่ได้ขึ้นทะเบียนขออนุญาตตามกฎหมาย มีสภาพรถที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย ขาดการจัดการที่เป็นระบบ
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2566 ผู้ตรวจการแผ่นดินได้จัดทำรายงานพร้อมข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานร่วมกันภายใต้คณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน โดยกระทรวงศึกษาธิการ ต้องกำหนดมาตรการ พัฒนา และสนับสนุนให้เกิดระบบรถรับส่งนักเรียนที่ปลอดภัยในทุกโรงเรียนทั่วประเทศ โดย ศธ. ร่วมกับภาคีเครือข่าย โรงเรียนในพื้นที่ต่าง ๆ ขับเคลื่อนโครงการแผนงานร่วมทุนสนับสนุนองค์กรผู้บริโภคเพื่อการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัยและเป็นธรรม ผลักดันให้เกิด “ศูนย์เรียนรู้ระบบรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย” ที่มีความพร้อมในการเป็นแหล่งเรียนรู้และได้รับการยอมรับจากหน่วยงานท้องถิ่น ปัจจุบันมีจำนวน 20 แห่ง และมีแผนจะขยายเพิ่มในระยะต่อไป
โฆษก ศธ. กล่าวต่อไปว่า กระทรวงศึกษาธิการ โดย พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของผู้เรียนเป็นหลัก ทั้งภายในบริเวณสถานศึกษา นอกสถานศึกษา รวมถึงการเดินทางสัญจร ซึ่งการเปิดเทอม 2567 นักเรียนจำนวนมากจำเป็นต้องใช้บริการรถรับ-ส่ง ในการเดินทางไปกลับจากโรงเรียน จึงขอความร่วมมือสถานศึกษาทุกแห่ง ตรวจสอบความเรียบร้อยของโครงสร้างพื้นฐานทางการจราจรที่ปลอดภัยทั้งในสถานศึกษาและบริเวณโดยรอบ เช่น การสร้างทางเท้าและเส้นทางจักรยานที่ปลอดภัย การติดตั้งไฟสัญญาณและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ที่สามารถช่วยลดอุบัติเหตุได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการตระหนักรู้และทักษะทางการจราจรให้แก่นักเรียน เพื่อให้นักเรียนเข้าใจและปฏิบัติตามกฎและข้อบังคับอย่างมีความรับผิดชอบ
รวมถึงผู้ประกอบการให้บริการรถรับส่งนักเรียน ตรวจสอบสภาพรถและการบริการให้ได้มาตรฐานความปลอดภัย มีการรับรองการใช้รถจากโรงเรียน ได้มาตรฐานตามที่กรมการขนส่งกำหนด ที่นั่งผู้โดยสารมั่นคงแข็งแรง ติดแผ่นป้าย “รถโรงเรียน” ด้านหน้าและด้านท้ายอย่างชัดเจน มีเครื่องมือจำเป็นกรณีฉุกเฉิน ด้านตัวคนขับรถต้องได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคลไม่น้อยกว่า 3 ปี และต้องมีผู้ดูแลนักเรียนประจำอยู่ในรถตลอดเวลาที่ใช้รถรับส่งนักเรียน สิ่งเหล่านี้เราผู้ใหญ่ต้องดำเนินการอย่างเข้มข้น เพื่อความปลอดภัยของชีวิตเด็ก ๆ รวมถึงผู้ร่วมทางบนถนนด้วย
ปารัชญ์ ไชยเวช/ข่าว-กราฟิก
The post ศธ.ขอความร่วมมือ รร.-ผู้ประกอบการ ตรวจเช็คสภาพรถรับส่งนักเรียนให้ได้มาตรฐาน เตรียมดูแลความปลอดภัยรับเปิดเทอม appeared first on กระทรวงศึกษาธิการ.