ยิ่งใหญ่สมศักดิ
จังหวัดบุรีรัมย์, 25 ...
6 มิถุนายน 2567 – พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่องการดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการคลังกระทรวงยุติธรรม กรมส่งเสริมสหกรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด สมาคมธนาคารไทยสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ณ หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ
รมว.ศธ. กล่าวว่า นโยบายของกระทรวงศึกษาธิการคือ “เรียนดี มีความสุข” ที่เป็นเรื่องของการลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา และอีกเรื่องคือการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา เพราะหากครูมีความทุกข์กับเรื่องหนี้สินก็คงไม่มีความสุขที่จะมาทำงานในด้านการศึกษา ไม่มีกำลังใจในการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนของเราเป็นคนดีคนเก่ง เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญ และเชื่อว่าทั้ง 13 หน่วยงานที่ร่วมมือกันในวันนี้ ต่างก็มีแนวคิดคล้ายกันคือต้องการคลายความทุกข์ให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยร่วมกันทำงานที่ท้าทาย
ตามโยบายของรัฐบาล โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯในภาพรวมทั้งประเทศเป็นวาระแห่งชาติ และที่ผ่านมา ศธ. ได้ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาลดความเดือดร้อนให้ครูฯกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ตอบโจทย์ทุกส่วนราชการในสังกัด แต่การขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ไม่สามารถดำเนินการได้ด้วย ศธ. เพียงหน่วยเดียวจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพอย่างครบวงจร
ขอกล่าวในนามกระทรวงศึกษาธิการ ครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกคน ขอขอบคุณและชื่นชมไปยังผู้บริหารและบุคลากรทั้ง 13 หน่วยงาน ที่ร่วมกันดำเนินงานอย่างสมบูรณ์แบบคาดหวังว่าการ MOU ในวันนี้ จะเป็นการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้สินและนำความสุข ความสบายใจ มาสู่ครูและบุคลากรทางการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อช่วยเหลือให้ครูฯ ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความมั่นคง ยั่งยืน มีขวัญและกำลังใจ ต่อการปฏิบัติหน้าที่ จนนำไปสู่การมอบคุณภาพการศึกษาที่ดีให้แก่เด็กนักเรียนและเยาวชนของประเทศไทย
“มีหลายคนบอกว่าการแก้ไขปัญหาหนี้สินเป็นเรื่องยากและเป็นไปไม่ได้ แต่ผมเชื่อว่าไม่มีสิ่งใดที่พวกเราจะร่วมกันทำด้วยความพยายามแล้วเป็นไปไม่ได้ และสิ่งสำเร็จจะเริ่มขึ้นในวันนี้อย่างแน่นอน” พลตำรวจเอก เพิ่มพูนชิดชอบ รมว.ศธ. กล่าว
รมช.ศธ. กล่าวว่า ปัญหาหนี้สินเป็นปัญหาที่อยู่คู่กับสังคมไทยมายาวนาน โดยรัฐบาลได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานอย่างชัดเจน นับเป็นการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินเป็นไปอย่างยั่งยืนและไม่กลับมาเป็นหนี้ซ้ำอีก โดยเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ ให้ทุกภาคส่วนดำเนินการปรับปรุงหลักการหลักเกณฑ์การหักเงินเดือนเพื่อชำระหนี้เงินกู้และค่าใช้จ่ายอื่นของบุคคลในสังกัด และให้สถาบันการเงินและสหกรณ์ออมทรัพย์ต่าง ๆ กำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้ต่ำลง เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับความเสี่ยงต่ำ
จากการที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาประสานงานแก้ปัญหาหนี้สินทั้งระบบ กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการเพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาล ในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูในสังกัด โดยมีเป้าหมายคือครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกคนจะต้องมีสภาพคล่องทางการเงินที่ดีขึ้น มีเงินเดือนเหลือสุทธิมากกว่าร้อยละ30 พร้อมทั้งมีความรู้และมีทักษะทางด้านการเงิน เพื่อป้องกันและแก้ปัญหาการเงินด้วยตนเองอย่างยั่งยืนสามารถปฏิบัติหน้าที่ราชการได้อย่างมีคุณภาพตามแนวทาง “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน”
กระทรวงศึกษาธิการจึงได้จัดตั้งสถานีแก้หนี้ครูระดับจังหวัด ระดับเขตพื้นที่การศึกษา และหน่วยงานทางการศึกษา จัดทำระบบแก้หนี้ สพฐ. (debt obec) พร้อมทั้งเวทีสัมมนาเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาในทุกมิติย่างจริงจัง ในฐานะประธานกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ขอขอบคุณ 13 หน่วยงานพันธมิตร ที่ร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เป็นตามวัตถุประสงค์ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ครูและบุคลากรทางการศึกษา
พบพร ผดุงพล / ข่าว
สมประสงค์ชาหารเวียง / Facebook live
พีรณัฐ ยุชยะทัต , ณัฐพล สุกไทย / ภาพ
สหัสยา จันทร์หอม / TIKTOK
The post ศธ. ร่วมมือ 13 หน่วยงานพันธมิตร เดินเครื่องเต็มกำลังแก้หนี้ครูฯ เติมความสุขและคุณภาพชีวิตอย่างเป็นรูปธรรม appeared first on กระทรวงศึกษาธิการ.