26 พฤษภาคม 2568 – พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้การต้อนรับคณะผู้ช่วยรัฐมนตรี ในโอกาสประชุมคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ครั้งที่ 4/2568 โดยมี พลตำรวจตรี สุรสิทธิ์ สังขพงศ์ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมเป็นประธานการประชุม ณ ห้องราชวัลลภ ชั้น 2 อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ

นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ กล่าวว่า วันนี้คณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีมาประชุมรับทราบความคืบหน้าของการดำเนินการนโยบายตามข้อสั่งการของรัฐบาลในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ขับเคลื่อนติดตามข้อเสนอแนวทางการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลการในประเด็นการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) จากผลการสำรวจเด็กอายุ 6 – 15 ปี ที่อยู่ในการศึกษาภาคบังคับ มีทั้งเด็กสัญชาติไทย 767,304 คน ค้นพบตัวเด็กแล้ว 741,499 คน คิดเป็น 96% และยังหาตัวไม่พบ 25,000 คน และในส่วนของเด็กต่างชาติ (เด็กหรัส G) ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) ดำเนินการ “ติดตาม แก้ไข ส่งต่อ ป้องกัน” ซึ่งได้รับรายงานว่ามีเด็กกลับมาสู่ระบบแล้ว 4 แสนกว่าคน โดยปัจจัยที่เด็กหลุดออกจากระบบมีหลายกรณี อาทิ ศึกษาต่อต่างประเทศ ถูกจับกุมคุมขัง หรืออยู่ในระบบอื่น เช่น บวชเณร แต่เป้าหมายสูงสุดที่ตั้งไว้คือตามเด็กกลับมาเรียนให้ได้มากที่สุด และเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนอย่างทั่วถึงตามหลักสิทธิมนุษยชน 

อีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาสู่ระดับสากล โดยยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA ด้วยการบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมเด็กเพื่อรองรับการสอบ PISA ที่จะมีการจัดขึ้นในปีนี้ โดยได้มีการปรับรูปแบบการสอนที่ตอนนี้ สำนักงานคณณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้มีการขยายผลการอบรมอบรมผู้บริหาร ครู และศึกษานิเทศก์ ในการสร้างและพัฒนาข้อสอบแนว PISA ในรูปแบบออนไลน์ ปรับรูปแบบการสอนและทำแบบทดสอบเชิงคิดวิเคราะห์มากขึ้น เพื่อให้นำไปปรับสู่การเรียนการสอนของเด็ก ขณะนี้ได้อบรมคุณครูเสร็จสิ้น 445,624 รายแล้ว

นอกจากนี้แล้วยังมีการส่งเสริมการเรียนรู้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในสถานศึกษา ซึ่งเป็นสิ่งที่ รมว.ศธ.ให้ความสำคัญ โดยให้นโยบายว่า AI มีส่วนในการช่วยทั้งครูและผู้เรียน คือช่วยในการทำหลักสูตร จัดเรียบเรียงเนื้อหาที่เหมาะสมสำหรับเด็กตามทักษะความถนัด ช่วยในการวางแผนการสอนและติดตามการเรียน ช่วยในการประเมินผู้เรียน ซึ่ง AI จะช่วยสะท้อนมายังคุณครูได้ ในส่วนของเด็ก AI จะช่วยให้เด็กมีแบบทดสอบที่เป็นไปตามระดับความสามารถในการเรียนรู้มากขึ้น ตอนนี้เด็กกับครูต้องรู้เท่ากัน และเมื่อผู้เรียนและผู้สอนนำมาใช้จะทำอย่างไรให้อยู่ร่วมกันได้ ซึ่งตอนนี้ ศธ.ได้ประกาศคู่มือการใช้ AI หรือ AI Guideline ตั้งแต่วันเด็กแห่งชาติที่ผ่านมา และยังมีความร่วมมือกับภาคเอกชนในการทำหลักสูตร AI โดยในปีนี้ได้มีการอบรมคุณครูนำร่องที่เรียบร้อยแล้ว คาดการณ์ว่าจะขยายผลได้ในเวลารวดเร็ว และกำลังเตรียมที่จะบรรจุวิชา AI เข้ากับหลักสูตร ม.ต้น และ ม.ปลาย ให้ครูและนักเรียนได้นำไปปรับใช้ไปตามบริบทที่มีความพร้อมก่อน

ส่วนประเด็นธนาคารหน่วยกิต หรือ Credit Bank  ปัจจุบันนี้ได้พัฒนารูปแบบของธนาคารหน่วยกิตให้กว้างขึ้น โดยผู้เรียนสามารถเรียนล่วงหน้าได้ และนำความรู้ที่ได้ใช้เป็นหน่วยกิตในการเรียนในระดับที่สูงขึ้น ลดเวลาเรียนได้ หลายวิชาที่เป็นวิชาใหม่ที่มีการเรียนการสอนและทำเป็นหลักสูตรสามารถเปลี่ยนเป็นหน่วยกิตไปใช้ในระดับอุดมศึกษาได้ ซึ่งในปีนี้ธนาคารหน่วยกิตจะเป็นโครงการนำร่องในปีแรก นอกจากนี้ความคืบหน้าของ สกร.หรือที่ทุกคนรู้จักกันในชื่อ กศน. เดิม ได้นำการสอบเทียบกลับมาใช้ เพราะพฤติกรรมของผู้เรียนเปลี่ยนไปจึงพิจารณาเรื่องการสอบเทียบกลับมาใช้ใหม่เพื่อตอบโจทย์ผู้เรียน

ทั้งนี้ รมว.ศธ. ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเพิ่มเติมว่า วันนี้ได้มีการพูดคุยกันในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาด้านต่าง ๆ ซึ่งผู้ช่วยรัฐมนตรีได้รายงาน การติดตามขับเคลื่อนงานตามนโยบายรัฐบาลในที่ประชุม เป็นสิ่งที่ดีจะสร้างเครือข่ายตามแนวทางการทำงาน “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” และในส่วนที่ขอความร่วมมือเพิ่มเติมคือการใช้ E-Meeting ในการประชุม โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมทำเป็นตัวอย่างไว้ดีมาก ในส่วนของมิติด้านการศึกษาโดยเฉพาะ Zero Dropout ก็ได้รับความร่วมมือจากกระทรวงสาธารณสุขมาเติมเต็มในกระบวนการดูแลเรื่องสุขภาพผู้เรียน และหากเด็กไม่มาเรียนปีนี้ครูก็จะแจ้งไปยังฝ่ายปกครอง กระทรวงมหาดไทย ที่มีอำนาจช่วยตามเด็กกลับเข้ามาเรียนในระบบการศึกษา เพราะปีที่แล้วช่วงปลายปีครูต้องออกไปตามเด็กกลับมาเรียนด้วยตนเอง อาจทำให้ขาดเวลาในการสอนเด็ก คาดว่าในเดือนมิถุนายนปีนี้ยอดของเด็กหลุดระบบน่าจะน้อยลงกว่าปีที่แล้ว

พบพร ผดุงพล / ข่าว
ธนภัทร จันทร์ห้างหว้า , อินทิรา บัวลอย / ภาพ

The post “สิริพงศ์” ประชุมคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ชู Zero Dropout ดึงเด็กกลับระบบ 96% เตรียมวาง AI เข้าหลักสูตรการเรียน appeared first on กระทรวงศึกษาธิการ.

Share This Article

Related Post

Thai-Spain

อยู่ระหว่างการจัดท...