ศธ.ร่วมหารือนาน
26 มีนาคม 2567 / พลตำร...
4 กันยายน 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมประสานภารกิจ ครั้งที่ 31/2567 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ และผ่านระบบ e-Meeting
พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. กล่าวขอบคุณทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียนที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นระดับผู้บริหาร ระดับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ส่งผลให้งานสำเร็จไปด้วยดี เชื่อว่าตามที่รองเลขาธิการอาเซียนพูดน่าจะเป็นความจริงว่า พวกเรามีการดำเนินการที่ถือว่าเป็น High Standard แสดงว่าสูงกว่ามาตรฐานสากล ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจ รวมทั้งฝากขอบคุณคนที่บ้าน ผู้ใต้บังคับบัญชา ผู้ที่ไปร่วมงาน ส่วนผู้ที่ไม่ได้ไปร่วมงานก็ต้องฝากขอบคุณด้วยเช่นกัน เพราะว่าในขณะที่ผู้มาร่วมงานช่วยกันในการทำงานอยู่นั้น ผู้ที่ไม่ได้มาก็คงต้องรับภาระงานต่าง ๆ ที่จะต้องทำแทน รวมถึงกระทั่งครอบครัวของทุกคนด้วย หลังจากนี้อยากให้มีการติดตามสื่อที่เราผลิตและส่งไป แล้วก็ต้องทำหนังสือขอบคุณไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ที่เข้ามาร่วมประชุมหรือส่งผู้แทนเข้ามาร่วมประชุม ตลอดจนส่งข้อมูลต่าง ๆ ที่ทำให้เราจัดงานประชุมนี้ขึ้นมาได้สำเร็จ
สำหรับช่วงนี้ใกล้จะสิ้นปีงบประมาณแล้ว ก็ต้องฝากทุกคนช่วยกันในการเร่งรัดติดตาม แม้ภาพรวมปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบประมาณของ ศธ.จะลดลง งบเพิ่มเติมอาจจะไม่ได้ตามที่เราขอ แต่ก็ยังดีกว่าที่เราไม่ได้อะไรเพิ่มเติมเลย ขอขอบคุณพวกเราเป็นอย่างยิ่ง เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องทั้ง 2 เรื่อง เมื่อเราสร้างสิ่งดี ๆ จนถูกชื่นชมว่าเป็น High Standard แล้วก็อยากให้พวกเรารักษาไว้ อย่าให้แย่ลง เพราะถ้าเราผิดพลาดไป สิ่งที่เราทำกันไว้ก็จะสูญเสียไปอย่างน่าเสียดาย
การขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA
นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. นำเสนอผลการขับเคลื่อนการติดตามและประเมินผลโครงการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับการประเมิน PISA ดังนี้
ผลการพัฒนานักเรียนผ่านการใช้ชุดพัฒนาความฉลาดรู้ เล่ม 3 และ 4 ไปใช้ในห้องเรียนกลุ่มเป้าหมายจำนวน 9,214 โรงเรียน นักเรียนกลุ่มเป้าหมาย ม.2 และ ม.3 ทั้งหมด 662,300 คน พบว่ากลุ่มเป้าหมายที่นำไปใช้ในห้องเรียนจำนวน 461,777 คน คิดเป็น 69.72% โดยจะมีการดำเนินการเพิ่มจุดเน้นในการนำชุดพัฒนาไปใช้ให้มากขึ้นในเดือนกันยายน และในภาคเรียนที่ 2/ 2567 ต่อไป
วิเคราะห์ผลการเข้าใช้ระบบ Computer Based Test ของนักเรียนกลุ่มเป้าหมาย (ม.2 และ ม.3) จากเขตพื้นที่ 245 เขตพื้นที่การศึกษากลุ่มเป้าหมาย 9,214 แห่ง มีนักเรียนเข้าไปฝึกทำข้อสอบในระบบPISA ของ ม.2 และ ม.3 จำนวน 477,579 คน คิดเป็น 72.10% และขณะนี้ที่จะดำเนินการต่อเพื่อให้เป็น 100% คือให้เขตพื้นที่ติดตามรายโรงเรียน แล้วส่งแบบติดตามออนไลน์ไปยังครูผู้สอน จากนั้นสรุปรายงานผลภาคเรียนที่ 1/2567 ทั้งนี้ได้มีการวางแผนศึกษานิเทศก์ประจำเขตพื้นที่การศึกษาให้เป็นตัวขับเคลื่อน ทำให้ง่ายต่อการติดตาม
คู่มือการสอนสำหรับครูในการจัดกิจกรรมการเรียนในการใช้ชุดพัฒนา ฯ ที่ได้มีการทำคู่มือการสอนสำหรับครูในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน แบ่งเป็น 2 ชุดและให้มีการติดตามโดย ผอ.เขตพื้นที่การศึกษาและศึกษานิเทศก์ทุก 2 สัปดาห์ มีการส่งงานผ่านกลุ่มของPISA แล้วจึงนำมาทำเป็นคู่มือ Q&A ใน 2 เรื่อง คือ การใช้ชุดพัฒนาความฉลาดรู้ กับการใช้ Computer Based Test ซึ่งสามารถดาวน์โหลดตามคิวอาร์โค้ดไปใช้งานได้เลย
การสร้างแรงจูงใจฯ ด้วย PISA Gamification มีการอบรมออนไลน์ไปแล้ว 6 ชั่วโมง มียอดรับชมทาง Facebook 44,200 คน และทาง YouTube 10,010 คน และยอดของการส่งงานการอบรมที่จะมีเกียรติบัตรด้วยอีก 1,712 คน ซึ่งมากกว่ายอดที่สมัครมา จากการสอบถามผลที่ได้รับจากการอบรมครูสามารถใช้แนวคิด Gamification ในการออกแบบและจัดการเรียนรู้ที่น่าสนใจ เมื่อครูนำไปใช้ในห้องเรียน นักเรียนจะได้รับประสบการณ์การเรียนรู้ที่สนุกสนานและท้าทาย ผ่านการคิดจากข้อสอบ PISA ตลอดจนเห็นควรจัดการแข่งขันนักเรียนฯ ช่วงเดือน พฤศจิกายน 2567
การฝึกใช้แป้นพิมพ์ให้มีความคล่องตัวมากขึ้น ปัญหาตรงจุดนี้ ได้มีการประสานงานกันเบื้องต้นที่ทางชุดติดตาม PISA พบว่ามีบางโรงเรียน นักเรียนใช้แป้นพิมพ์ไม่คล่อง ทั้งนี้ที่ประชุมฯ ให้คำแนะนำว่าควรใช้แบบพิมพ์ที่เป็นโปรแกรมเข้าไปช่วยในห้องเรียน ซึ่งโรงเรียนบ้านน้ำอ้อม สพป.ยโสธรเขต 1 และโรงเรียนบ้านหนองใหญ่ สพม.เพชรบูรณ์ เขต 1 นำไปใช้แล้วพบว่าสิ่งที่สำคัญคือมีความง่ายขึ้นต่อการเข้าถึงการใช้คอมพิวเตอร์
นายธีระเดช เจียรสุขสกุล ผอ.สสวท. นำเสนอผลการประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนเพื่อยกระดับผลการประเมิน PISA ครั้งที่ 5/2567 เมื่อวันพุธที่ 28 สิงหาคม 2567 โดยที่ประชุมเห็นชอบและให้ข้อคิดเห็นแนวทางการติดตามและเร่งรัดให้โรงเรียนนำสาระในเอกสารชุดพัฒนาความฉลาดรู้ เล่ม 3 และ 4 ไปใช้ในห้องเรียน การอบรมครูเพื่อสร้างให้เป็นนักสร้างข้อสอบตามแนว PISA และแผนการดำเนินงานตามกิจกรรมที่ 6 – 9 ในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายน 2568 ตลอดจนฝ่ายเลขานุการคณะทำงานฯ ร่วมกับ สพฐ. สช. อปท. กทม. และ สสวท. ได้ลงพื้นที่ในการติดตามการพัฒนาความฉลาดรู้ของนักเรียนเพื่อรวบรวมผลการดำเนินงาน ปัญหาอุปสรรคของโรงเรียนสำหรับหาแนวทางปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายทั่วประเทศ
ด้านผลการติดตามและประเมินผลโครงการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับผลการประเมิน PISA ของโรงเรียนในสังกัดต่าง ๆ ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาความฉลาดรู้จากเอกสารเล่มที่ 3 และการใช้ชุดแบบฝึกพัฒนาความฉลาดรู้จากเอกสารเล่มที่ 4 พบว่าปัญหาส่วนใหญ่คือโรงเรียนมีปัญหาด้านคอมพิวเตอร์ เช่น จำนวนไม่เพียงพอ สัญญาณอินเทอร์เน็ตไม่เสถียร และสเปกคอมพิวเตอร์ต่ำเกินไปจึงใช้โปรแกรมแบบออฟไลน์ไม่ได้ ขณะที่ตัวของนักเรียนมีปัญหาอ่านยังไม่คล่อง ไม่ชอบอ่านบทอ่านยาว ๆ ใช้เวลาในการตีโจทย์ปัญหานาน และมีปัญหาการพิมพ์คำตอบผ่านคอมพิวเตอร์
ส่วนแนวทางการดำเนินกิจกรรมอบรมครูเพื่อสร้างให้เป็นนักสร้างข้อสอบตามแนว PISA นักสร้างข้อสอบด้านการอ่านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ตามแนว PISA จำนวน 8 รุ่น รุ่นละ 40 คนต่อวิชา รวม 960 คน โดยผู้ที่ผ่านการอบรมจะช่วยสร้างคลังข้อสอบตามแนว PISA สำหรับส่งให้โรงเรียนนำไปใช้ในการพัฒนานักเรียนอย่างต่อเนื่อง และสามารถเป็นวิทยากรผู้ช่วยในการจัดอบรมครูเพื่อสร้างนักสร้างข้อสอบตามแนว PISA รุ่นต่อ ๆ ไป ซึ่งจะเริ่มอบรมรุ่นที่ 1-2 ในเดือนตุลาคม 2567
รมว.ศธ.ได้ให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติมว่า การดำเนินการยกระดับการประเมินผล PISA นั้น สิ่งสำคัญคือเราต้องการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาคทางการศึกษา และสร้างการศึกษาที่มีคุณภาพ ถ้ามองในมิติเขตพื้นที่การศึกษาก็ต้องเป็น 245 + 1 ซึ่งสิ่งที่ดำเนินการและรายงานผลมาก็ถือว่ายอดเยี่ยม เนื่องจากกระทรวงศึกษาธิการเป็นหน่วยงานที่ใหญ่ สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือความร่วมมือร่วมใจของพวกเราทุกคน เท่าที่ดูมาหน่วยต่าง ๆ ทุกหน่วยก็ทำได้ดีอยู่แล้วก็ขอชื่นชม เราต่างพบเจอความท้าทาย ความยากลำบากในการบริหารจัดการการทำงาน ปลายทางของเรายังมีการรับรู้น้อยอยู่
อยากให้ สพฐ.มีการสำรวจข้อมูลพื้นฐานทั้งหมดว่ามีอะไรบ้าง เช่น โรงเรียนที่รัฐมนตรีไปตรวจเยี่ยมบางแห่งมีสระว่ายน้ำ มีสนามกีฬา มีอุปกรณ์สื่อการเรียนการสอนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น สามารถนำมาใช้ร่วมกันได้หรือไม่ สิ่งสำคัญอีกเรื่องคือ DLTV ต้องสร้างวิธีคิดให้โรงเรียนใหม่ ไม่ใช่ว่ามีครูครบชั้นแล้วเลยไม่จำเป็นต้องใช้ DLTV แบบนั้นไม่ถูกต้อง แต่ DLTV จะสามารถเป็นผู้ช่วยครูสอนได้ ขอให้เพิ่มการรับรู้เข้าไปว่าเรามีอะไรบ้าง เขาจะได้เลือกใช้สื่อการเรียนการสอนแบบที่เขาชอบ
ส่วนด้านอุปกรณ์มอบหมายให้ สอศ. เข้าไปช่วยดูแล สพฐ. ให้เกิดเป็นรูปธรรม จัดระเบียบดูว่าโรงเรียนไหนอาชีวะดูแลบ้าง ส่วนเรื่องคอมพิวเตอร์นั้นก็ต้องไปตรวจดูเพราะว่าแต่ละโรงเรียนที่ได้ลงพื้นที่ดูนั้นบางแห่งมีคอมพิวเตอร์ 10 เครื่องใช้ได้เพียง 4 เครื่องอีก 6 เครื่องต้องนำไปซ่อม อย่างเช่น Smart TV เราก็ต้องมองว่าควรจะใช้แบบใด เช่นการใช้รีโมทมันไม่สะดวกต่อการใช้งาน ก็ทำให้ผู้ใช้งานไม่สะดวก ไม่อยากใช้ ทั้งที่จริงเราสามารถซื้อคีย์บอร์ดหรือเมาส์มาใช้ร่วมกับ Smart TV ได้ ขอให้สำรวจ ปรับปรุง บำรุงรักษาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดให้เกิดประโยชน์สูงสุด ฝากผู้ตรวจราชการ ศธ. และรอง ศธภ.ทุกท่าน เวลาไปตรวจราชการท่านต้องรู้ ต้องมีข้อแนะนำ เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้แต่ละโรงเรียนด้วย
การติดตามผลการดำเนินงานงบประมาณ ปี 2567
ข้อมูลสถานะรายจ่ายลงทุนและเงินจัดสรรเหลือจ่าย ณ วันที่ 30 ส.ค.67 มีจำนวนรายการที่ลงนามในสัญญา 98.63% เงินจัดสรรเหลือจ่าย (รายจ่ายลงทุน) สอศ. 154.88 ล้านบาท สพฐ. 62.54 ล้านบาท สกร. 17.52 ล้านบาท และ สป. 7.30 ล้านบาท คิดเป็นภาพราม ศธ. 242.24 ล้านบาท
โดยมีแผนการใช้จ่ายเงินจัดสรรเหลือจ่าย สอศ. เป็นค่าสาธารณูปโภค ผลกระทบจากภัยพิบัติ ซ่อมแซม บำรุงรักษาทรัพย์สินที่จำเป็นเร่งด่วน เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการเรียนการสอนและการบริหารจัดการ เป็นต้น สพฐ. ใช้หรับงบประมาณที่ถูกพับไปโดยผลของกฎหมาย จำนวน 6 รายการ ชดเชยค่าก่อสร้าง กรณีภัยพิบัติ เป็นต้น สกร. โอนเปลี่ยนแปลงเป็นงบลงทุน ซ่อมแชมอาคารที่จำเป็น และ สป. โอนเปลี่ยนแปลงเป็นงบดำเนินงาน ค่าตอบแทน ใช้สอยและวัสดุ จัดซื้อครุภัณฑ์คอมพิวเตอร์+สำนักงาน สมทบเป็นค่าใช้จ่ายในการประเมินผลงานทางวิชาการของผู้ขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะที่สูงขึ้น
การติดตามข้อสั่งการการประชุมประสานภารกิจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
เรื่อง Solar Roof โดยควรเน้นทำให้สถานศึกษาที่มีการใช้ไฟฟ้าเป็นจำนวนมากก่อน แล้วขยายผลให้ครบทุกโรงเรียนต่อไป ซึ่งได้มีการประชุมคณะกรรมการลดภาระค่าใช้จ่ายการใช้พลังงานและสาธารณูปโภคของ ศธ. ครั้งที่ 7/2567 เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2567 โดยที่ประชุมได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายสถานศึกษาในสังกัด ศธ. เพื่อการประสานขอติดตั้ง Solar Cell โดยกำหนดเป็นรายจังหวัด เน้นจัดสรรให้สถานศึกษาที่มีค่าใช้จ่ายไฟฟ้าสูงที่สุด (250,000 – 300,000 บาท หรือ 300,000 บาทขึ้นไป และต้องไม่มี Solar Cell ติดตั้งอยู่ เป็นลำดับแรก โดยจัดสรรให้จังหวัดละ 3 แห่ง/หน่วยงานต้นสังกัด ดังนี้ สพฐ. จังหวัดละ 3 แห่ง (สพม. 2แห่ง/ สพป. 1 แห่ง)/ สอศ. จังหวัดละ 3 แห่ง/ สกร. หน่วยงาน สถานศึกษา 3 แห่ง/ สช. หน่วยงานระดับจังหวัด และกำหนดให้ส่งข้อมูลให้ฝ่ายเลขานุการฯ ภายในวันจันทร์ที่ 9 กันยายน 2567 และนัดประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 8/2567 ในวันอังคารที่ 10 กันยายน 2567 ทั้งนี้การจัดทำข้อมูลสารสนเทศด้านค่าสาธารณูปโภค ขอให้ทุกหน่วยงานดำเนินการจัดเก็บข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน และต่อเนื่องเพื่อให้มีข้อมูลสำหรับการดำเนินงานในระยะต่อไปถูกต้อง ชัดเจน
“จากการลงพื้นที่น้ำท่วม พบว่าต้นเหตุไม่ได้มาจาก “น้ำป่าไหลหลาก” แต่เกิดจาก “น้ำไม่มีป่าไหลหลาก” จากการตัดต้นไม้จำนวนมาก เมื่อไม่มีป่าชะลอน้ำ จึงเกิดเหตุการณ์อย่างรุนแรง และรวดเร็ว พัดพาหิน ดิน ทราย โคลน มาทับถมสถานศึกษา จนได้รับผลกระทบ
ฝากถึงผู้บริหารสถานศึกษา และคุณครู พยายามสร้างความตระหนักรู้แก่นักเรียนและผู้ปกครอง ถึงอันตรายจากการไม่มีป่า ปลูกฝังการอนุรักษ์ รักษา ฟื้นฟู ให้ป่ามีความอุดมสมบูรณ์ และมีส่วนร่วม ช่วยกันขับเคลื่อน หรือขยายต่อไปยังพื้นที่อื่น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสถานการณ์ความเสียหายซ้ำอีก”
พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
กล่าวในการประชุมประสานภารกิจ กระทรวงศึกษาธิการ, 4 กันยายน 2567
ทั้งนี้ รมว.ศธ. กล่าวถึงกรณีประเด็นข่าวลบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น หากผู้ใดกระทำความผิดร้ายแรงจริง สามารถให้ออกจากราชการไว้ก่อนได้ ขอให้ทำงานอย่างฉับไว รวดเร็ว หากกระทำความผิดต้องลงโทษทันที และหากทำความดี ก็ต้องให้รางวัลทันทีเช่นเดียวกัน
ปารัชญ์ ไชยเวช/ข่าว
พีรณัฐ ยุชยะทัต/ถ่ายภาพ
The post ‘เพิ่มพูน’ ขอบคุณทุกความร่วมมือ ความสำเร็จ ASED ครั้งที่ 13 High Standard ฝากการทำงานให้ฉับไว รวดเร็ว ทำผิดลงโทษทันที appeared first on กระทรวงศึกษาธิการ.