ชมรม “คุรุทายาท
ชมรมคุรุทายาทแห่งป...
ทำเนียบรัฐบาล – 8 กรกฎาคม 2567 / นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ มอบหมายให้ นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมการหารือข้อราชการระหว่าง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กับ ดร.อะห์เมด มุฮัมมัด อะห์เมด อัล-ฏอยยิบ (Professor Dr. Ahmed Mohamed Ahmed El-Tayeb) ผู้นำสูงสุดทางศาสนาอิสลามของสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ (Grand Imam Sheikh of Al-Azhar) ในการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล ณ ตึกไทยคู่ฟ้า
รองปลัด ศธ. เปิดเผยว่า รัฐบาลไทยภายใต้การนำของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ร่วมหารือข้อราชการระหว่างไทยและสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ และยังเป็นการเยือนไทยในฐานะแขกของรัฐบาล ในรอบกว่า 17 ปี ซึ่งในปี 2567 นี้จะเป็นการครบรอบ 70 ปีของความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศ การเยือนไทยของท่านผู้นำสูงสุดฯ จึงถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของการเฉลิมฉลองวาระสำคัญนี้ ซึ่งจะส่งผลให้ความสัมพันธ์กระชับแน่นแฟ้นและมีพลวัตที่ก้าวหน้ามากขึ้น
ประเทศไทยและสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ มีความร่วมมือกันในหลายด้าน ทั้งด้านการศึกษา ศาสนา ภาษา และวัฒนธรรม โดยเฉพาะความร่วมมือด้านการศึกษา ในระดับอุดมศึกษาได้มีความร่วมมือด้านวิชาการและการส่งอาจารย์จากอียิปต์มาสอนในมหาวิทยาลัยไทย รวมทั้งจัดส่งครูมาสอนในโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามมาตั้งแต่ ปี 2549 ถึงปัจจุบัน และมีนักศึกษาไทยมุสลิมที่เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ของอียิปต์ กว่า 3,000 คน ซึ่งมีกว่า 600 คน ได้รับทุนจากไทย โดยทางอียิปต์ยังได้มอบทุนแก่นักศึกษาไทยเป็นกรณีพิเศษอีก 160 ทุน แบ่งเป็นสาขาศาสนาและอิสลามศึกษา 80 ทุน สาขาวิทยาศาสตร์ แพทยศาสตร์ 80 ทุน ผ่านสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย
ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญกับการศึกษาของนักเรียนไทยในต่างประเทศ โดยสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงไคโร ได้จัดกิจกรรมร่วมกับนักศึกษาไทยอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมยกระดับทักษะในด้านต่าง ๆ หรือการสร้างเครือข่ายในกลุ่มนักศึกษาไทยด้วยกัน รวมทั้งการให้การสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ของสมาคมนักเรียนไทยกรุงไคโร ในพระบรมราชูปถัมภ์มาด้วยดี
กระทรวงศึกษาธิการของไทยและหน่วยงานของอียิปต์ ได้จัดทำและโต้ตอบร่างบันทึกความเข้าใจด้านการศึกษาระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ (Memorandum of Understanding between the Government of the Kingdom of Thailand and the Government of the Arab Republic of Egypt in the Field of Education) สำหรับพัฒนาศูนย์ภาษาอาหรับกับมหาวิทยาลัย เพื่อเตรียมความพร้อมด้านภาษาอาหรับแก่นักศึกษาไทยที่ไปเรียนต่อที่อียิปต์
โดยครอบคลุมความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลสารสนเทศและเทคโนโลยีทางการศึกษา การจัดทำหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานและอาชีวศึกษา การแลกเปลี่ยนครูและบุคลากรทางการศึกษา การอบรมครูด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ โดย ศธ. ของไทยได้นำส่งร่างฯ โต้ตอบ เมื่อปี 2563 ให้ฝ่ายอียิปต์พิจารณา และฝ่ายอียิปต์ได้นำส่งร่างฯ ตอบกลับมาเมื่อปี 2565 อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเนื้อหาหลักคาบเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.เดิม ปัจจุบันขึ้นกับ อว.) ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกระทรวง บริบทและสถานการณ์ทางสังคม จึงอยู่ระหว่างการพิจารณาให้ข้อคิดเห็นและปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาโดยหน่วยงานและกระทรวงที่เกี่ยวข้องอีกครั้งเพื่อให้เกิดความครบถ้วนสมบูรณ์
สำหรับกรอบการเทียบวุฒิการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายระหว่างไทยและอียิปต์ สืบเนื่องจากมหาวิทยาลัยในอียิปต์มีความประสงค์ให้ฝ่ายไทยแปลเอกสารที่ใช้สมัครเรียนต่อทั้งหมดเป็นภาษาอาหรับ และผ่านการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยก่อนนำส่งให้ฝ่ายอียิปต์พิจารณา ซึ่ง สพฐ. ได้ดำเนินการแปลหลักสูตรแกนกลางฯ พ.ศ. 2551 และเอกสารสำคัญทางการศึกษาเป็นภาษาอังกฤษเรียบร้อยแล้ว เพื่อใช้เป็นหลักฐานให้กับผู้เรียนที่ต้องการศึกษาต่อในต่างประเทศ แต่ยังไม่มีการแปลเป็นภาษาอาหรับ ทั้งนี้ได้แจ้งให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่ดูแลสถานศึกษาในสังกัดที่นักเรียนสำเร็จการศึกษา ในการดำเนินการจัดเตรียมเอกสารหลักฐานการศึกษา หลักสูตรสถานศึกษา รวมถึงเอกสารอื่น ๆ ทั้งภาษาอังกฤษหรือภาษาอาหรับ โดยให้หน่วยงานต้นสังกัดที่กำกับดูแล ติดตาม และประเมินผลสถานศึกษา เป็นผู้รับรองและสนับสนุนให้ความช่วยเหลือในการแปลเอกสารหลักฐานดังกล่าว
ด้านการศึกษานอกระบบ ได้มีการตั้งศูนย์การเรียนรู้ ณ กรุงไคโร (ศกร.) สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ เริ่มดำเนินการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย ตั้งแต่ ปี 2538 โดยปัจจุบัน ใช้หลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นการจัดการศึกษาให้กับเยาวชนไทย ที่อาศัยอยู่ในกรุงไคโร ในระดับประถมศึกษา – มัธยมศึกษาตอนปลาย โดยได้รับเงินอุดหนุนค่าตอบแทนในการจัดการเรียนมัธยมศึกษา ค่าใช้จ่ายรายหัวต่อภาคเรียน และได้รับงบประมาณสนับสนุนเป็นค่าเช่าสถานที่สอน โดยมีผู้ลงทะเบียนเรียน ตั้งแต่ พ.ศ. 2554 จนถึงปัจจุบัน ประมาณ 1,000 คน
ในการนี้ รัฐบาลไทย โดย ศธ. ได้มีการเตรียมความพร้อมให้กับนักเรียนไทยมุสลิมก่อนเดินทางไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ ตั้งแต่ปี 2563 ศูนย์ขับเคลื่อนการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศค.จชต.) ได้สนับสนุนนักเรียนและนักศึกษาที่จะไปศึกษาต่อฯ โดยสร้างการรับรู้ แนะแนวการศึกษา เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับข้อมูลที่จำเป็น การเข้าถึงแหล่งข้อมูลทุน ช่องทางในการติดต่อกับสมาคมนักศึกษาไทยในต่างประเทศ และการเตรียมความพร้อม
รวมถึงประชาสัมพันธ์กิจกรรมการศึกษาในต่างประเทศแก่เยาวชนในพื้นที่ให้เข้าถึงแหล่งข้อมูลสำคัญ เป็นการส่งเสริมให้สามารถศึกษาต่อตามความต้องการและความถนัด นักเรียนสามารถวางแผนด้านการศึกษาและวางแผนการประกอบอาชีพให้สอดคล้องกับตลาดแรงงาน ลดการว่างงาน รวมทั้งบริการสนับสนุนข้อมูลการเทียบโอนรายวิชาและการเทียบวุฒิการศึกษาจากต่างประเทศ เพื่อลดปัญหาการเทียบคุณวุฒิการศึกษาจากต่างประเทศที่ไม่รับรอง ทำให้เยาวชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถดำเนินชีวิตร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม ได้อย่างปกติสุข สนับสนุนการดำเนินงานของรัฐ และการเกื้อกูลต่อการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ สามารถกลับมาพัฒนาบ้านเกิดต่อไป
“รัฐบาลไทยชื่นชมในบทบาทและแนวคิดของผู้นำสูงสุด ในการส่งเสริมสันติภาพและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขภายใต้ความหลากหลายทางสังคม ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็มีนโยบายที่ให้ความเสมอภาค เสรีภาพแก่ทุกคน ทุกกลุ่มในประเทศมีการนับถือศาสนาและการปฏิบัติศาสนกิจอย่างเท่าเทียม บนพื้นฐานที่ว่า “ทุกคนล้วนเป็นคนไทยเหมือนกัน” หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทั้งสองฝ่ายจะสามารถพัฒนาความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านการศึกษา ด้านภาษา และการแสวงหาแนวทางในการรักษาความสงบสุข เพื่อให้เกิดสันติภาพอย่างยั่งยืน”
อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว
ณัฐพล สุกไทย / ภาพ
The post นายกฯ “เศรษฐา” กระชับความสัมพันธ์ ไทย-อียิปต์ พร้อมยกระดับความร่วมมือทางการศึกษา ศาสนา ภาษา และวัฒนธรรม appeared first on กระทรวงศึกษาธิการ.