นักเรียนการ์ดอย
19 มิถุนายน 2567 – นายสิร...
18 พฤศจิกายน 2567 / ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแผนปฏิบัติราชการและการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 ของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย ดร.พิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัด ศธ. โดยมีผู้บริหาร ศธ. คณะทำงานฯ และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวเข้าร่วมกว่า 200 คน ณ โรงแรมเดอะ ทวิน ทาวเวอร์ กรุงเทพฯ และระบบ Zoom Meeting
ปลัด ศธ. กล่าวว่า ภายใต้วิสัยทัศน์ของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ “บริหารจัดการศึกษาแบบบูรณาการอย่างเป็นเอกภาพ เรียนดี มีความสุข รู้เท่าทันโลกยุคใหม่” คือสารตั้งต้นที่พวกเราทุกคนต้องนำมาเป็นแนวคิดในการดำเนินงาน เพราะทุกคนเปรียบดังกองกำลังของ ศธ. ที่มีทั้ง “หน่วยรบ” คือ หน่วยงานที่อยู่ส่วนกลาง และ “หน่วยสนับสนุน” คือ หน่วยงานที่อยู่ในส่วนภูมิภาค ที่ต้องขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกัน เพื่อส่งต่อมายังหน่วยเสนาธิการ คือ ผู้บริหาร ศธภ. ศธจ. นำมาสู่การกำหนดแผนการปฏิบัติราชการในการจัดทำคำของบประมาณฯ
การจัดทำแผนปฏิบัติราชการและการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณฯ ของ สป. นั้น เป็นกระบวนการที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการบริหารจัดการทรัพยากร และการดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ของกระทรวงศึกษาธิการ สิ่งสำคัญที่ต้องให้ความสำคัญและต้องศึกษาเป็นอย่างดีคือ ยุทธศาสตร์ชาติที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาที่จะเข้ามาเกี่ยวเนื่องในทุกโครงการ ต้องศึกษาให้ชัดเจนเพื่อนำไปสู่ความเชื่อมโยงรวมถึงแผนงานต่าง ๆ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่มีการปรับ KPI เพิ่มเติม แผนการศึกษาแห่งชาติ แผนปฏิบัติราชการ การกำหนดนโยบายและเป้าหมายที่ชัดเจนในการพัฒนาและยกระดับระบบการศึกษา
สิ่งสำคัญคือนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ จะต้องสอดรับไปในทิศทางเดียวกันกับ“นโยบายรัฐบาล“ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน การศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมในประเด็นต่าง ๆ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกในโยคปัจจุบัน เนื่องจากโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เป็นยุค VUCA World หรือยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ไปสู่ยุค BANI World ที่มีความผันผวนตลอดเวลา และการที่ AI เข้ามามีบทบาทในการดำรงชีวิตมากยิ่งขึ้น จึงต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาไปพร้อม ๆ กันในทุกมิติ
ในขณะนี้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเฟ้นหาและช่วยเหลือเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา และได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) ระดับชาติ และเห็นชอบมาตรการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ เพื่อระดมความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบให้ได้รับการศึกษา
ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการต้องเริ่มขับเคลื่อนตั้งแต่ในระดับจังหวัด โดยเริ่มจากการป้องกัน และหาวิธีที่จะทำอย่างไรไม่ให้เด็กออกนอกระบบการศึกษา หาวิธีการแก้ไข และกำหนดนโยบายที่สอดรับกับการสร้างภูมิคุ้มกัน ตั้งแต่ระดับครอบครัว โรงเรียน การให้มีรายได้ในระหว่างเรียน หรือการจัดโครงการที่จะช่วยแก้ปัญหาได้ในระยะสั้นและระยะยาว โดยการประสานความร่วมมือกับภาครัฐหรือภาคเอกชน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาการศึกษา โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาเด็กนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็น “0”
ทั้งนี้ การจัดทำแผนฯ ในแต่ละจังหวัดนั้น มีความแตกต่างกันตามบริบทของพื้นที่ การจัดการศึกษาต้องเป็นการจัดการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาคทางการศึกษา โดยผู้ที่จัดทำยุทธศาสตร์และกำหนดแผนยุทธศาสตร์ของจังหวัดฯ รวมถึงการกำหนดวิสัยทัศน์ของจังหวัด ต้องรู้ทิศทางในการพัฒนาการศึกษาให้เป็นไปในทิศทางเดียวกับการพัฒนาจังหวัดในภาพรวม สิ่งสำคัญคือทุกคนที่มีหน้าที่ในภารกิจสำคัญนั้น ต้องมีการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ ทั้งเรียนรู้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เรียนรู้นโยบายใหม่ ๆ การพัฒนานวัตกรรมในพื้นที่จังหวัด พวกเราทุกคน “ต้องไม่ทำงานแบบตั้งรับ แต่ต้องทำงานแบบเชิงรุก”
ศึกษาธิการภาคและศึกษาธิการจังหวัดต้องทำงานร่วมกัน ปรับทิศทางในเรื่องของการทำงานที่เชื่อมประสานกัน โดยสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติ และต้องขับเคลื่อน “จังหวัดเป็นหนึ่ง” โดยการบูรณาการอย่างเป็นเอกภาพ สอดคล้องกลมกลืนหน่วยงานจัดการศึกษาในพื้นที่เป็นหนึ่งเดียวกัน ในขณะที่ ศธจ. ไม่ใช่หัวหน้างานธุรการ แต่ต้องเป็นผู้คิดนวัตกรรมในการพัฒนาการศึกษาในจังหวัดของตนเอง มีการพัฒนาแผนการศึกษาฯ ร่วมกับการนำนโยบายของจังหวัด และร่วมมือกันบูรณาการร่วมกับหน่วยงานทางการศึกษาในทุกสังกัด
“ในฐานะที่เราเป็นกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้นำในการจัดการศึกษาของจังหวัด ในการขับเคลื่อนนโยบายให้เป็นรูปธรรม โดยร่วมกับคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน ศึกษาธิการจังหวัด เป็นเลขานุการฯ ต้องเรียนรู้กระบวนการในเรื่องของการจัดการศึกษาภายใต้ พ.ร.บ. พื้นที่นวัตกรรม เพื่อการส่งเสริมการกระจายอำนาจ เน้นกลไกการจัดการศึกษาร่วมกันของทุกภาคส่วน เพิ่มความคล่องตัวในการบริหารและการจัดการศึกษาของหน่วยงานทางการศึกษาและสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา โดยมีเป้าเพื่อนำไปสู่การพัฒนาการศึกษาของประเทศ ส่วนการจัดทำแผนฯ สป.ศธ. นั้น ไม่เพียงแต่เป็นกระบวนการทางการบริหารที่สำคัญ แต่ยังต้องคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสามารถตอบสนองต่อความต้องการในการยกระดับคุณภาพการศึกษาได้อย่างยั่งยืน“ ปลัด ศธ. กล่าว
อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว – กราฟิก
พีรณัฐ ยุชยะทัต / ภาพ
The post ปลัด ศธ. “สุเทพ” แนะเคล็ดลับทำแผนปฏิบัติราชการฯ เน้นทำงานเชิงรุก ขับเคลื่อน “จังหวัดเป็นหนึ่ง” appeared first on กระทรวงศึกษาธิการ.