รองปลัด ศธ. ‘พิเช
5 กรกฎาคม 2567 – นายสุเ...
7 สิงหาคม 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมประสานภารกิจ ครั้งที่ 29/2567 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ และผ่านระบบ e-Meeting
รมว.ศธ. เปิดเผยว่า ความท้าทายของกระทรวงศึกษาธิการ คือยกระดับคุณภาพการศึกษาในภาพรวม การทำให้คุณภาพการศึกษาสูงขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำ เป็นสิ่งที่เราได้ร่วมมือร่วมใจกันดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องในมิติต่าง ๆ ขอให้มีการขับเคลื่อนร่วมกันต่อไป รมว.ศธ. และ รมช.ศธ. ยินดีร่วมดำเนินงานกับทุกหน่วนงาน เพราะการทำงานจะสำเร็จไม่ใช่เพียงคนเดียวหรือหน่วยงานเดียวเท่านั้น ต้องอาศัยการทำงานที่มีความร่วมมือร่วมใจ อาศัยการทำงานเป็นทีม มีการทำงานเป็นมิติภาพรวม ด้วยแนวคิด “กระตุ้น ติดตาม ขับเคลื่อน สนับสนุน”
ในเดือนสิงหาคมนี้ ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดงาน การประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 23 – 26 สิงหาคม 2567 ณ จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งจะมีผู้นำด้านการศึกษาของประเทศสมาชิกอาเซียนหลายประเทศเข้าร่วมประชุม จึงขอฝากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีการวางแผนการดำเนินงาน และมีการซักซ้อมเพื่อให้งานออกมามีประสิทธิภาพ และขอความร่วมมือบุคลากร ศธ. ทุกคน ร่วมกันเป็นเจ้าบ้านที่ดี เพื่อชื่อเสียงของประเทศไทย สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
การขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA
รมว.ศธ. กล่าวว่า การขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA ให้มีการจัดทำคู่มือหรือแนวทางการดำเนินงาน คู่มือการจัดการเรียนการสอนเพื่อนำมาตรฐานเดียวกันมาใช้ แต่สามารถปรับให้เข้าบริบทของแต่ละหน่วยงานและสถานศึกษา เพราะแต่ละสถานที่นั้นย่อมมีความแตกต่างกัน รวมถึงการสำรวจความพร้อมด้านอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ระบบสัญญาณอินเทอร์เน็ต เพื่อจัดทำเป็นฐานข้อมูลในการสำรวจความต้องการ การรับการสนับสนุนอุปกรณ์ต่าง ๆ ประสานสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (Fix it Center) ที่อยู่ในพื้นที่ เข้าไปช่วยตรวจสอบ ซ่อมแซม สำรวจความพร้อมของอุปกรณ์และระบบสัญญาณในสถานศึกษาทุกพื้นที่ ทั้งสถานศึกษาในและนอกสังกัดของ ศธ. ให้ทุกโรงเรียนสามารถมีการจัดการเรียนการสอนและมีอุปกรณ์ เพื่อสร้างคุณภาพของเด็กไทยร่วมกัน
ทั้งนี้ยังได้รับทราบรายงานผลการขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพการศึกษาในการส่งเสริมสมรรถนะและความฉลาดรู้ของนักเรียนตามแนวทางโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (PISA) โดย สพฐ. จัดทำระบบข้อสอบออนไลน์ Computer Based Test (PISA Style) เพื่อให้นักเรียนสามารถเข้ามาทดลองทำข้อสอบ ซึ่งปัจจุบันมีนักเรียนที่เข้าสู่ระบบตั้งแต่เดือนมกราคม – กรกฎาคม 2567 จำนวน 571,241 ครั้ง ซึ่งเป้าหมายในการขับเคลื่อนลงสู่ชั้นเรียนและนักเรียนกลุ่มเป้าหมาย ที่ผ่านการพัฒนาด้วยชุดพัฒนาความฉลาดรู้ ที่เป้าหมาย 662,300 ครั้ง นั้น สพฐ. กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการและจัดทำข้อมูลเพื่อรายงานต่อไป
นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการการใช้ Gamification PISA ปรับข้อสอบ PISA สู่โลกดิจิทัลน้อยด้วยเกม เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีความเข้าใจเกี่ยวกับข้อสอบ PISA ที่มีการนำเกมมาประยุกต์ใช้ (Gamification) สามารถออกแบบและปรับข้อสอบให้เป็นรูปแบบ Digital Platform ที่มีความเป็นเกม สามารถใช้เครื่องมือและเทคนิคในการจัดสอบและวิเคราะห์ผล ผู้ผ่านการอบรมที่สามารถสร้างชุดในรูปแบบ Digital Platform จากการปรับข้อสอบแบบ Paper-Base จะได้รับเกียรติบัตรพร้อมรางวัล ซึ่งของรางวัลหรือสิ่งที่ต้องการเสริมสร้างกำลังใจทั้งครูและนักเรียนนั้น เป็นรางวัลที่ได้จากการสำรวจความต้องการของครูและนักเรียนเพื่อให้ตรงกับความต้องการมากที่สุด ปัจจุบันมีครูและผู้สนใจสมัครเข้ารับการอบรมกว่า 1,500 คน
ทางด้าน สสวท. ร่วมกับ สพฐ. ในการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาและพัฒนาศักยภาพการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมสมรรถนะความฉลาดรู้ของผู้เรียนตามแนวทาง PISA ของโรงเรียนเอกชนในจังหวัดพื้นที่ชายแดนภาคใต้ (สตูล สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส) เพื่อพัฒนาครูผู้สอนวิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์
ในการนี้ สช. ได้รายงานการติดตามการดำเนินการยกระดับผลการประเมิน PISA ของโรงเรียนเอกชนที่เปิดสอนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ โรงเรียน ครู (ผู้สอนวิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์) และนักเรียน ซึ่งผลการขับเคลื่อนการยกระดับผลการประเมิน PISA ของโรงเรียนเอกชนกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 1,410 โรง มีการนำชุดพัฒนาความฉลาดรู้ ด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ไปใช้ในการจัดการเรียนการสอน ทั้งในการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ใช้ในรายวิชาเพิ่มเติม จัดเป็นรายวิชาเพิ่มเติมใหม่ และใช้ในรายวิชาพื้นฐาน และให้นักเรียนทำข้อสอบแนว PISA ทั้งแบบ Online และ Offline ในภาคเรียนที่ 1 ในระดับชั้น ม.2 และ ม.3 รวม 203,985 คน สช. จะกำชับให้โรงเรียนนำชุดพัฒนาความฉลาดรู้ เล่ม 3 และเล่ม 4 ไปใชในการจัดการเรียนการสอนในภาคเรียนที่ 1 และวางแผนการนำไปใชในภาคเรียนที่ 2
ผลการขับเคลื่อนการยกระดับผลการประเมิน PISA ระดับจังหวัด ซึ่งมีการขับเคลื่อนของโรงเรียนเอกชน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมสมรรถนะความฉลาดรู้ของผู้เรียนตามแนวทางการประเมิน PISA ของโรงเรียนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อส่งเสริมครูผู้สอนวิชาภาษาไทย วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ของโรงเรียนเอกชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เปิดสอนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจำนวน 341 โรงเรียน ซึ่งมีโรงเรียนที่เข้าร่วมอบรม กว่าร้อยละ 90 ของโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีการขับเคลื่อนโครงการยกระดับผลการประเมิน รวมทั้งการสร้างการรับรู้ การอบรมครูผู้สอนและการนำนักเรียนฝึกทำข้อสอบ PISA Online
การบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัด ศธ.
รมว.ศธ. กล่าวว่า การบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้หน่วยงานการศึกษาทุกแห่ง มีอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เหมาะสมในการขับเคลื่อนการจัดการศึกษา ภายหลังจากที่ได้รับการจัดสรรคืนอัตราเกษียณอายุราชการ ซึ่งต้องการให้วันที่ 1 ตุลาคม หลังจากสิ้นสุดปีงบประมาณและมีการคืนอัตราเกษียณ ได้มีการบรรจุแต่งตั้งข้าราชการ บุคลากร พร้อมทำงานทดแทนตำแหน่งว่างทั้งหมด โดยทุกส่วนราชการต้องมีการบูรณาการการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาร่วมกัน
โดยตนได้เน้นย้ำให้ดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพทั้งระบบ รวมถึงการนำระบบการสอบบรรจุเข้ารับราชการ ระบบการอบรมข้าราชการฯ มารวมเป็นระบบเดียวกัน เพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย ลดขั้นตอนการทำงาน และประสานการทำงานร่วมกัน เป็นการใช้ทรัพยากรร่วมกัน ภายใต้หลักสูตรเดียวกัน ถือเป็นภารกิจสำคัญ เปรียบเสมือนการสร้าง “กองกำลังพลของกระทรวงศึกษาธิการ” ที่มีคุณภาพ ทั้งนี้ สำนักงาน ก.ค.ศ. ได้เตรียมการดำเนินการกำหนดขั้นตอนการบริหารอัตรากำลังของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัด ศธ. โดยรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานในสังกัดเพื่อจัดทำฐานข้อมูลต่อไป
การติดตามผลการดำเนินงานงบประมาณปี 2567
รมว.ศธ. กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการได้จัดทำคำของบประมาณรายจ่ายงบกลางปี 2567 จำนวน 90 ล้านบาท เพื่อนำมาจัดสรรให้กับสถานศึกษาที่ประสบภัยต่าง ๆ ซึ่งได้กำชับว่าต่อจากนี้ในการจัดทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำในปีต่อไป ต้องครอบคลุมการดำเนินการทุกด้าน โดยเฉพาะด้านภัยพิบัติจะเร่งจัดทำคำขอทันที หรือหากมีงบส่วนไหนพอจะสามารถจัดสรรไปให้สถานศึกษาที่ประสบภัยก่อนได้ก็ให้ดำเนินการทันที ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของนักเรียนและครูฯ เป็นอันดับแรก
ผลการดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566
รมว.ศธ. กล่าวว่า ได้รับทราบรายงานผลการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะและแนวทางการดำเนินงานภาพรวมของกระทรวงศึกษาธิการ ตามข้อสั่งการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จากรายงานผลการตรวจราชการและติดตามประเมินผลการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักตรวจราชการและติดตามประเมินผล ได้ดำเนินการรายงานผลการตรวจติดตาม และประเมินผล ซึ่งได้ดำเนินการใน 6 นโยบาย
นโยบายที่ 1 การจัดการศึกษาเพื่อความปลอดภัย นโยบายที่ 2 การยกระดับคุณภาพการศึกษา นโยบายที่ 3 การสร้างโอกาสและความเสมอภาคเท่าเทียมทางการศึกษาทุกช่วงวัย นโยบายที่ 4 การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน นโยบายที่ 5 การส่งเสริมสนับสนุนวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา และนโยบายที่ 6 การพัฒนาระบบราชการและการบริการภาครัฐยุคดิจิทัล ทั้งนี้จะได้นำข้อเสนอแนะแนวทางในการดำเนินงานไปขับเคลื่อนลงสู่หน่วยงานในระดับศึกษาธิการภาค เพื่อขยายต่อไปยังระดับจังหวัด ซึ่งในระยะต่อไปต้องเพิ่มผลการขับเคลื่อนฯ ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข”
การจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
รมว.ศธ. กล่าวว่า การจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม ที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาได้ร่วมพิธีตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ได้แจ้งหมายในพิธี และดำเนินการจัดพิธีในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ประกอบด้วยพิธีเจริญพระพุทธมนต์และทำบุญตักบาตรถวายพระราชกุศล พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณเพื่อเป็นข้าราชการที่ดีและพลังของแผ่นดิน และการลงนามถวายพระพรฯ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการบริจาคโลหิต ณ หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีผู้บริจาคโลหิต จำนวน 280 คน และส่วนภูมิภาคมีผู้ร่วมบริจาคโลหิต ณ สถานที่ตั้งของหน่วยงาน สำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัด โรงพยาบาลในพื้นที่ ของบุคลากรจากสำนักงานศึกษาธิการภาค จำนวน 111 คน และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด จำนวน 1,499 คน รวมมีผู้บริจาคทั้งสิ้น 1,890 คน จำนวนโลหิต 831,600 ซีซี
การจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบรมราชชนนีพันปีหลวง
รมว.ศธ. กล่าวว่า การจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2567 ขอความร่วมมือผู้บริหารและบุคลากรทุกท่าน เข้าร่วมพิธีด้วยความพร้อมเพียง
กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ ตามที่รัฐบาลกำหนดจัดกิจกรรม ในพิธีทำบุญตักบาตรถวายพระราชกุศล พิธีลงนามถวายพระพรฯ ณ ท้องสนามหลวง ร่วมเข้าเฝ้าฯ ตามหมายกำหนดการพระราชพิธีมหามงคลฯ ณ ศาลาสหทัยสมาคม และพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง พิธีถวายเครื่องราชสักการะและวางพานพุ่ม พิธีจุดเทียนชัยถวายพระพรชัยมงคล ณ ท้องสนามหลวง และพิธีเชิญเครื่องราชสักการะและพานพุ่มไปทูลเกล้าฯ ณ กองทัพภาคที่ 1 ในวันที่ 13 สิงหาคม 2567
การจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ได้กำหนดจัดพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์และสามเณร จำนวน 103 รูป พิธีลงนามถวายพระพร เพื่อเป็นการร่วมเฉลิมพระเกียรติแสดงความจงรักภักดี และน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
“มิติการทำงานของ รมว.ศธ. คือไม่มีการวางกรอบการทำงาน แต่ให้ทุกหน่วยงานสามารถกำหนดแนวทางการทำงานตามบริบทของแต่ละหน่วยงานได้ แต่ขอให้งานที่ออกมามีประสิทธิภาพ ทั้งในเรื่องของการปฏิบัติงาน ที่มีความถูกต้อง รวดเร็ว ประโยชน์ ประหยัด มีการสื่อสารและการประชาสัมพันธ์ ซึ่งการผลิตสื่อของ ศธ. มีหลากหลายรูปแบบ ขอฝากให้มีการสร้างกระแสสังคม ทำให้ประชาชนตื่นตัว มีความน่าสนใจ และอยากที่จะรับข่าวสารจากเรา มีการประสานเครือข่ายการประชาสัมพันธ์และบูรณาการการทำงานร่วมกัน และต้องไม่ใช่เพียงแต่ข่าวของ รมว.ศธ. หรือ รมช.ศธ. เท่านั้น แต่ต้องมีการเผยแพร่การดำเนินงานที่สำคัญของทุกหน่วยงาน และเป็นประโยชน์ต่อประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ รับทราบ ถึงนโยบาย การทำงาน การจัดกิจกรรม หรือสาระความรู้ที่เป็นประโยชน์ ที่ ศธ. ต้องการสื่อสารไปยังบุคลากรหรือประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้รับทราบ และสร้างความศรัทธาให้กับประชาชน”
อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว
ศศิวัฒน์ แป้นคุ้มญาติ / ภาพ
The post รมว.ศธ. “เพิ่มพูน” เร่งพัฒนาระบบบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูฯ เน้นทำงานเป็นทีมด้วยมิติภาพรวม “กระตุ้น ติดตาม ขับเคลื่อน สนับสนุน” appeared first on กระทรวงศึกษาธิการ.