กระทรวงศึกษาธิก
รัฐบาล และกระทรวงศึ...
8 มกราคม 2568 / นายวรัท พฤกษาทวีกุล รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย นายวีระ ยี่แพร รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ร่วมหารือแนวทางบูรณาการการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ณ ห้องประชุมจันทรเกษม อาคารราชวัลลภ
รองปลัด ศธ. เปิดเผยว่า การประชุมในครั้งนี้เป็นความร่วมมือสำคัญ ระหว่าง กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อพัฒนาความรู้และปลูกฝังความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยการพัฒนาระบบ Social Media ให้เป็นเครื่องมือในการสร้างการเรียนรู้แก่ประชาชน มุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็ก เยาวชน นักเรียน และนักศึกษา ซึ่งส่วนใหญ่ยังขาดทักษะในการคิดวิเคราะห์ แยกแยะข้อมูล และการใช้วิจารณญาณอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ ได้กำหนดกรอบยุทธศาสตร์ “ทบทวน ต่อยอด ขยายผล” เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและขยายขอบเขตการดำเนินงานอย่างครอบคลุมทุกมิติ
“ทบทวน” การดำเนินงานที่ผ่านมา โดยเน้นการประเมินผลและพัฒนาปรับปรุงให้มีความทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งในด้านแนวทางปฏิบัติและกลไกการทำงานของเครือข่ายต่าง ๆ ที่ได้รับการสนับสนุนมาแล้ว อาทิ โครงการลูกเสือ อาสา กกต. และหมู่บ้านไม่ขายเสียง เพื่อเสริมสร้างการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในระดับพื้นที่ พร้อมทั้งสร้างความมั่นใจว่าการดำเนินงานจะตอบสนองต่อเป้าหมายของการพัฒนาประชาธิปไตยอย่างยั่งยืน
“ต่อยอด” การดำเนินงาน ให้เกิดผลลัพธ์ที่มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ด้วยการบูรณาการความร่วมมือจากหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องในทุกระดับ รวมถึงการเสริมศักยภาพของกลุ่มองค์กรเครือข่ายในพื้นที่ โดยเฉพาะการสนับสนุนการทำงานผ่านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เข้าถึงได้ง่าย เช่น การพัฒนาแอปพลิเคชัน Civic Education บนโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายในยุคดิจิทัล และขยายการเรียนรู้ไปยังเด็ก เยาวชน และประชาชนอย่างทั่วถึง
“ขยายผล” การดำเนินงานที่ได้เริ่มต้นไว้แล้วให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง และมีผลลัพธ์ที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม โดยมุ่งเน้นการผลักดันและพัฒนาหลักสูตรสำหรับ 4 ช่วงวัย ได้แก่ อนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย เพื่อปลูกฝังแนวคิดที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแก่เด็ก เยาวชน นักเรียน นิสิต และนักศึกษา ตลอดจนการสร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกกลุ่ม
นอกจากนี้ยังมุ่งเสริมสร้างความรู้ด้านความเป็นพลเมือง และส่งเสริมการมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยผ่านสถาบันและเครือข่ายต่าง ๆ เช่น สภานักเรียน องค์การนักวิชาชีพในอนาคตแห่งประเทศไทย ลูกเสืออาสา กกต. และนักศึกษาวิชาทหาร (รด.จิตอาสา) รวมถึงเครือข่ายมหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พร้อมทั้งสนับสนุนการผลิตและเผยแพร่สื่อการเรียนรู้ เช่น แอปพลิเคชัน Civic Education เพื่อให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างทันสมัยและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในยุคดิจิทัล
โดยมีประเด็นการประชุมหารือแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาหลักสูตรและแนวทางการจัดการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างพลเมืองวิถีใหม่ (Civic Education) ดังนี้
1. กิจกรรมประชุมเชิงปฏิบัติการกำหนดแนวทางการจัดกิจกรรมพลเมืองในสถานศึกษา กลุ่มเป้าหมาย : ผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนหน่วยงานบันบันทึกความร่วมมือ ผู้บริหาร และพนักงานของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ระยะเวลา 2 วัน 1 คืน
2. กิจกรรมประชุมชี้แจงแนวทางการจัดกิจกรรมเสริมสร้างพลเมืองในสถานศึกษา กลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย ผู้อำนวยการสำนักงาน กกต.จังหวัด / ศึกษาธิการจังหวัด
3. กิจกรรมขับเคลื่อนกิจกรรมเสริมสร้างพลในสถานศึกษา
– จัดกิจกรรมค่ายเยาวชนให้ความรู้สภานักเรียน
– จัดกิจกรรมส่งเสริมวิถีประชาธิปไตยในสถานศึกษา
4. ประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาหลักสูตรผู้บังคับบัญชาลูกเสืออาสา กกต. กลุ่มเป้าหมาย : ผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนหน่วยงานบันทึกความร่วมมือ ผู้บริหาร และพนักงานของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ระยะเวลา 3 วัน 2 คืน
5. ฝึกอบรมหลักสูตรผู้บังคับบัญชาลูกเสืออาสา กกต. กลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย ผู้บังคับบัญชาลูกเสือ หรือบุคลากรจากสถานศึกษา ระยะเวลา 3 วัน 2 คืน
6. ฝึกอบรมลูกเสืออาสา กกต. เพื่อพัฒนาประชาธิปไตย
– จัดตั้งกองลูกเสือ จำนวน 200 กอง ๆ ละ 40 คน
– จัดอบรมทบทวนลูกเสือ อาสา กกต.
“การหารือครั้งนี้ถือเป็นความร่วมมืออันดีระหว่าง ศธ. และ กกต. ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ เพื่อส่งเสริมความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ผ่านการบูรณาการองค์ความรู้ และการพัฒนาสื่อการเรียนรู้ที่ทันสมัย เพื่อสร้างบุคลากรที่มีศักยภาพในการคิดวิเคราะห์และการมีส่วนร่วมในกระบวนการประชาธิปไตยอย่างมีคุณภาพ และจะขยายผลการดำเนินงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาหลักสูตรและกิจกรรมที่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายในทุกช่วงวัย ทั้งในระดับสถานศึกษาและชุมชนทั่วประเทศ “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน”
อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว-กราฟิก
อินทิรา บัวลอย / ภาพ