ประกาศคณะกรรมกา
ราชกิจจานุเบกษา (18 ม...
17 ตุลาคม 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมประสานภารกิจ ครั้งที่ 36/2567 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ และผ่านระบบ e-Meeting
ภายหลังการประชุม รมว.ศธ. พร้อมด้วยนายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ. นายประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ สกศ. นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. แถลงข่าว ณ ห้องแถลงข่าว
รมว.ศธ. กล่าวว่า ขอบคุณชาวกระทรวงศึกษาธิการทุกท่าน ที่ร่วมมือร่วมใจช่วยเหลือกันในยามที่มีเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้น ถือเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้ประชาชนได้เห็นถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของชาว ศธ.
ขอฝากเรื่องการนำบุคลากรลงพื้นที่ช่วยเหลือฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัยในจังหวัดเชียงรายและจังหวัดต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบ ให้มีการดำเนินการอย่างเป็นระบบ มีการจัดทำทะเบียนควบคุมเพื่อให้ทราบถึงจำนวนของวัสดุ ครุภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ได้รับความเสียหายและได้รับการซ่อมแซมแล้ว และพิจารณาในการดำเนินงานให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด
ในเรื่องของการส่งเสริมผู้เรียน ขอเน้นย้ำให้ส่งเสริมการเรียนรู้ให้เด็กในทุกมิติ ไม่ใช่แค่เก่งด้านการเรียนอย่างเดียว แต่ต้องเก่งในด้านทักษะการใช้ชีวิต เพื่อส่งเสริมให้เป็นผู้ที่ “ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ” และฝึกทักษะการคิดอย่างมีเหตุผล
สำหรับประเด็นเรื่องการทุจริต หากพบผู้บริหาร ข้าราชการครู บุคลากรทางการศึกษาปฏิบัติหน้าที่ไม่โปร่งใส ให้มีการสืบสวนด้วยความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย หากพบมีการทุจริตจริง ให้ดำเนินการลงโทษขั้นเด็ดขาดทันที เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง
สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
การขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA
รมว.ศธ. กล่าวว่า การขับเคลื่อนแนวทางต่าง ๆ เป็นเรื่องที่มีการพัฒนาไปในทิศทางที่ดี ขอให้มีการกระตุ้นสร้างแรงจูงให้นักเรียน ครู มีแรงขับเคลื่อนในการพัฒนาตนเอง โดยเฉพาะนักเรียน ฝึกให้เป็นผู้ที่ “ฟัง พูด อ่าน คิด เขียน” ได้เป็นอย่างดี เพื่อให้มีทักษะที่ดี และพร้อมที่จะเรียนรู้ ในมิติของ รมว.ศธ. อยากให้มีการส่งเสริมทักษะด้านภาษา 3 ภาษา คือ ภาษาไทย ภาษาสากล (ภาษาอังกฤษ) และภาษาดิจิทัล เพื่อเตรียมพร้อมในการเป็นบุคลากรของประเทศ
ในส่วนภูมิภาคฝากให้ร่วมกันขับเคลื่อน ทั้งผู้ตรวจราชการ ศึกษาธิการภาค ที่สำคัญคือ ศึกษาธิการจังหวัดทุกจังหวัด เป็นหลักในการดำเนินงานในพื้นที่ รมว.ศธ. เชื่อว่าทุกท่านเป็นผู้มีความสามารถ ถือเป็นผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ ในการขับเคลื่อนนโยบายร่วมกับจังหวัดและหน่วยงานทุกสังกัด ในส่วนของการพัฒนาการเรียนรู้ทักษะด้านต่าง ๆ ขอให้มีกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ส่งเสริม School as Learning Community : SLC ให้โรงเรียนในฐานะชุมชนแห่งการเรียนรู้ มาใช้ในห้องเรียนเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน
ทั้งนี้ สพฐ. ได้ดำเนินการขับเคลื่อนฯ ด้วยการใช้ชุดพัฒนาความฉลาดรู้ ในภาคเรียนที่ 1/2567 โดยได้นำชุดพัฒนาไปใช้ใน 245 เขตพื้นที่ ครบทุกเขต 100% โดยมีกลุ่มเป้าหมาย 9,214 โรงเรียน ในด้านการอ่าน ด้านวิทยาศาสตร์ และด้านคณิตศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่สอดแทรกเข้ามาในการนำชุดพัฒนาไปใช้ อาทิ กิจกรรมห้องสมุด กิจกรรมการเสริมหลักสูตรอื่น ๆ กิจกรรมชั่วโมงซ่อมเสริมในวิชาที่นักเรียนสนใจ ซึ่งผลจากการนำชุดพัฒนาความฉลาดรู้ฯ ไปใช้ จะเป็นแนวทางในการจัดทำแผนงานนำไปใช้ในห้องเรียนทุกโรงเรียน ทุกเขตพื้นที่ การระบุจำนวนเรื่องในการเรียนการสอนอย่างชัดเจน มีการกำกับติดตามอย่างทั่วถึงครบทุกวิชา เพื่อนำไปสู่ผลการรายงานการใช้ชุดพัฒนาความฉลาดรู้ของทั้งปีการศึกษา 2567
นอกจากนี้ยังมีการสำรวจสภาพคอมพิวเตอร์และระบบสัญญาณอินเทอร์เน็ต ของโรงเรียนในสังกัด สพฐ. ครบ 100% ทุกโรงเรียน โดยมีโรงเรียนในสังกัด สพป. จำนวน 6,854 โรงเรียน และสังกัด สพม. 2,360 โรงเรียน ซึ่งทำการสำรวจจำนวนคอมพิวเตอร์ ที่มีสภาพใช้งานได้ดี เครื่องที่ต้องมีการซ่อมแซม และเครื่องที่ไม่สามารถใช้งานได้ เพื่อเตรียมการประสานและส่งต่อข้อมูลไปยังสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เพื่อดำเนินการเข้าช่วยเหลือในการซ่อมแซมเครื่องคอมพิวเตอร์และระบบต่าง ๆ ให้สามารถกลับมาใช้งานได้ และแจ้งให้เขตพื้นที่ ให้โรงเรียนเตรียมความพร้อมและประสานไปยัง สอศ. ในพื้นที่จับคู่ร่วมกันพัฒนา เพื่อดูแลช่วยเหลือในการซ่อมแซมฯ ถือเป็นการลดภาระค่าใช้จ่าย และลดงบประมาณในการจัดซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ได้อีกทางหนึ่ง
ในส่วนของระบบสัญญาณอินเทอร์เน็ต ก็มีการสำรวจความพร้อมในการใช้งานเช่นเดียวกัน ทั้งในพื้นที่ที่สัญญาณใช้งานได้ดี พอใช้ หรือต้องมีการปรับปรุงระบบสัญญาณ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีระบบสัญญาณระดับพอใช้ ทั้งในส่วนของโรงเรียนในสังกัด สพป. และ สพม. ซึ่งได้ให้โรงเรียนรายงานการดำเนินงานไปยังเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อรายงานให้ทราบผลการดำเนินงานและส่งต่อมายัง สพฐ. ในการช่วยเหลือดูแล และจัดหาระบบเครือข่ายที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้ผู้เรียนสามารถใช้งานได้ต่อไป
แนวทางการเรียนรู้และพัฒนาตนเองเกี่ยวกับ PISA ในรูปแบบ Anywhere Anytime โดยการจัดห้องเรียน Google Classroom เพื่อการพัฒนาครูแกนนำ ในด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ PISA Gamifification ส่งเสริมครูที่สนใจในการสร้างแรงจูงใจในการอ่านและทำข้อสอบ PISA และสุดท้ายคือการพัฒนานักสร้างข้อสอบสำหรับครูทั้ง 3 ด้าน โดยจะเริ่มดำเนินการในช่วงกลางเดือนตุลาคม และคาดว่าจะเริ่มประชาสัมพันธ์ได้ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567
นอกจากนี้ ศธ. ได้มีการอบรมครูเพื่อสร้างให้เป็นนักสร้างข้อสอบตามมาตรฐานสากล ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นโดย สพฐ.ร่วมกับ สสวท. ในการจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างและพัฒนาข้อสอบวัดความฉลาดรู้แบบ On site โดยเปิดให้บุคคลทั่วไป สามารถเข้าสมัครได้ด้วยตนเอง ผ่านการอบรมแบบ Online Training ผ่าน Live และบุคคลที่เข้าร่วมผ่านหน่วยงานต้นสังกัด อบรมผ่านระบบ Zoom และ Onsite Training ซึ่งจะมีการอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ จำนวน 3 รุ่น ในรุ่นที่ 1 จะอบรมระหว่างวันที่ 21 – 22 ตุลาคม 2567 ผู้เข้าอบรมสังกัด สช. กทม. และ อปท.
การช่วยเหลือเยียวยากรณีเหตุเพลิงไหม้รถบัสทัศนศึกษา
รมว.ศธ. กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้มีผู้ได้รับผลกระทบทั้งสิ้น 46 ราย เสียชีวิต 23 ราย บาดเจ็บสาหัส 2 ราย บาดเจ็บ 2 ราย และ ปลอดภัยแล้วจำนวน 19 ราย สำหรับการมอบเงินช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวของนักเรียน ครูที่เสียชีวิตและบาดเจ็บ จากกองทุนการศึกษาขั้นพื้นฐานและเงินบริจาค จากบุคคล คณะบุคคล หน่วยงาน องค์กรอื่น ๆ รวมทั้งสิ้นกว่า 82 ล้านบาท เป็นเงินจากสังกัด สพฐ. กว่า 4 ล้านบาท เงินจากผู้บริจาคช่วยเหลือโดยผ่านครอบครัวผู้ประสบภัย และการรวบรวมข้อมูลจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากว่า 78 ล้านบาท โดยวางแผนการช่วยเหลือ 2 ระยะ
ระยะเร่งด่วน กรณีครูนักเรียนเสียชีวิตได้มอบเงินช่วยเหลือ รวมทั้งมีการวางแนวทางดูแลผู้ปกครอง บุพการี หรือบุตรของผู้เสียชีวิต การขอรับบำเหน็จความชอบเป็นกรณีพิเศษ 3 ลำดับขั้นเป็นเบื้องต้นให้กับครู กรณีบาดเจ็บได้มอบเงินช่วยเหลือจากกองทุนการศึกษาขั้นพื้นฐานและเงินบริจาค รวมทั้งจัดตั้งเงินทุนเพื่อการดูแลรักษาในระยะยาว รวมทั้งสาธารณสุขจังหวัดอุทัยธานีและอาสาสมัครสาธารณสุขประจำ หมู่บ้าน (อสม.) ร่วมติดตาม ดูแล ช่วยเหลือนักเรียนและครอบครัวที่ประสบเหตุ ในช่วงปิดภาคเรียน
ระยะยาวและต่อเนื่อง สพฐ. โดย สพป. อุทัยธานี เขต 2 ร่วมกับศูนย์สุขภาพจิต ดำเนินการจัดกิจกรรมเพื่อดูแลครูและนักเรียนในช่วงเปิดภาคเรียน และร่วมมือกับสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ในการร่วมกันเสนอแผนฟื้นฟูจากเหตุการณ์ฯ โดยจะเป็นการฟื้นฟูสภาพจิตใจและให้คำปรึกษาแก่ นักเรียน ผู้ปกครองและครูผู้ประสบเหตุ
ทั้งนี้ได้มีการเสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เป็นกรณีพิเศษ คณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองคุณสมบัติของบุคคลที่พึงได้รับการเสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์และเหรียญจักรพรรดิมาลา ประจำ ปี 2568 ของ สพฐ. เห็นชอบให้เสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ให้แก่ ผู้กระทำความดีความชอบอันเป็นประโยชน์ ต่อหน่วยงานในสังกัด จำนวน 3 ราย ได้แก่ 1. นางสาวพิมพ์ทอง สมบัติ ข้าราชการครู เสนอขอพระราชทานชั้นตริตาภรณ์ช้างเผือก (ต.ช.) 2. นางสาวกนกวรรณ ศรีผง ข้าราชการครู เสนอขอพระราชทานชั้นตริตาภรณ์ช้างเผือก (ต.ช.) 3. นางสาวสริญญา หอมเกษร นิสิตฝึกสอน เสนอขอพระราชทานชั้นจตุตถดิเรกคุณาภรณ์ (จ.ภ.)
สำหรับการสร้างอนุสรณ์สถานเพื่อรำลึกถึงผู้ประสบเหตุฯ ขณะนี้ สพฐ. กำลังเร่งหารือร่วมกับชุมชนท้องถิ่น เบื้องต้นจะสร้างบริเวณสนามฟุตบอลภายในโรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม จ.อุทัยธานี เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ที่ครูและนักเรียนได้จากไป และเพื่อใช้ประโยชน์แก่นักเรียนที่ยังมีชีวิตอยู่ต่อไปด้วย โดยอยู่ในขั้นตอนการออกแบบและจัดสรรงบประมาณ
มาตรการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย
รมว.ศธ. กล่าวว่า ได้มีการหารือเกี่ยวกับมาตรการให้ความช่วยเหลือ เยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบและฟื้นฟูหน่วยงาน/สถานศึกษาจากสถานการณ์อุทกภัย เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณฯ สำหรับสถานศึกษา ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยในช่วงปี 2566 และ 2567 ที่ผ่านมา วงเงินงบประมาณ 95 ล้านบาท ซึ่งมีแนวปฏิบัติ คือ เมื่อมีการสํารวจความเสียหายที่เกิดจากภัยพิบัติ และต้องการซ่อมแซมเพื่อคืนสภาพให้โรงเรียนสามารถจัดการเรียนการสอนได้ โดยในการขอรับการจัดสรรงบประมาณ จะต้องจัดทำรายละเอียดรายการข้อมูลที่จะขอรับการจัดสรรงบประมาณฯ ให้มีความครบถ้วน ถูกต้อง เป็นไปตามระเบียบที่กำหนด
การสำรวจสื่ออุปกรณ์การจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ DLTV
รมว.ศธ. กล่าวว่า ได้มอบหมาย สพฐ. ดำเนินการการสำรวจสื่ออุปกรณ์การจัดการเรียนการสอนที่ชำรุดทรุดโทรม เสื่อมประสิทธิภาพสำหรับโรงเรียนที่ใช้การสอนรูปแบบ DLTV ประสานความร่วมมือกับ สอศ. เพื่อดำเนินการให้การช่วยเหลือ โดยเฉพาะโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนในรูปแบบ DLTV ที่ประสบอุทกภัย เพื่อให้ความช่วยเหลือในการซ่อมแซมปรับปรุง ซึ่งรายการที่พบว่ามีการชำรุดจากเหตุการณ์อุทกภัย อาทิ โทรทัศน์ กล่องรับสัญญาณ (IRD) จานดาวเทียม คอมพิวเตอร์ และระบบสัญญาณอินเทอร์เน็ต ซึ่ง สอศ. โดยทีม Fix it จิตอาสา“ จะดำเนินการให้การช่วยเหลือ ซ่อมแซมต่อไป
กิจกรรมกระทรวงศึกษาธิการ ประจำเดือนตุลาคม 2567
รมว.ศธ. กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการได้เตรียมการในการร่วมพิธีวางพวงมาลาและถวายบังคม เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 “วันปิยมหาราช” พระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวันพุธที่ 23 ตุลาคม 2567 ในส่วนกลาง ณ พระลานพระราชวังดุสิต และในส่วนภูมิภาค เข้าร่วมพิธีร่วมกับจังหวัด
ในวันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม 2567 ผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ เตรียมการเข้าเฝ้าฯ รับเสด็จ ในงานพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดย “ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค” เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมพิธี ณ บริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 8 สวนหลวงพระราม 8
“ขอให้ร่วมพิธีด้วยความพร้อมเพรียง เป็นระเบียบเรียบร้อย พร้อมกันทุกสังกัด เป็นทีมเดียวกัน ซึ่ง รมว.ศธ. ให้ความสำคัญในการดำเนินการร่วมกัน “ในนามของกระทรวงศึกษาธิการ” เพื่อแสดงออกถึงภาพลักษณ์ที่ดีของชาวกระทรวงศึกษาธิการ”
การฝึกอบรมพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล สำหรับผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการ
รมว.ศธ. กล่าวว่า การจัดฝึกอบรมพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล เพื่อให้ผู้บริหารสามารถใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างนวัตกรรมใหม่ในระบบการศึกษาได้ ถือเป็นมิติในการพัฒนาตนเอง ฝากให้มีการขยายต่อไปหน่วยงานในสังกัด ศธภ. ขยายต่อไปยัง ศธจ. รวมถึงทุกหน่วยงานในสังกัด สำหรับหลักสูตร e-Inspection , Power BI และ Data Driven Decision Making ซึ่งมีประโยชน์ต่อการนำมาใช้ในการปฏิบัติการ ซึ่งการมีการเพิ่มเติมหลักสูตรที่เป็นประโยชน์ อาทิ การใช้ Google Map และระบบนำทางต่าง ๆ
“ถือเป็นการนำแนวทางการบริหารงานของ รมว.ศธ. ที่มอบเป็นแนวทางให้ส่วนราชการในสังกัดและในกำกับ ได้นำไปยึดถือเป็นแนวทางการดำเนินงาน ในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารงาน และการปฏิบัติงานของส่วนราชการ เป็นผู้บริหารยุคใหม่ ก้าวล้ำ-ใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการและปรับรูปแบบการทำงานเป็นดิจิทัล มี Platform รองรับการปฏิบัติงานที่เป็นระบบ”
อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว
สมประสงค์ ชาหารเวียง / วิดีโอ
ณัฐพล สุกไทย / ภาพ
The post ศธ. ช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย และกรณีเพลิงไหม้รถบัสฯ ต่อเนื่อง พร้อมยกระดับทักษะเยาวชนทุกมิติ ส่งเสริมให้ผู้เรียน “ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ” appeared first on กระทรวงศึกษาธิการ.