ราชกิจจานุเบกษา
ราชกิจจานุเบกษา (2 ก...
7 สิงหาคม 2567/ กระทรวงศึกษาธิการ โดยพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย นายแพทย์พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต นางบุญสิงห์ มีมะโน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 13 กรุงเทพมหานคร และแพทย์หญิงพันธุ์นภา กิตติรัตนไพบูลย์ ประธานมูลนิธิกำแพงพักใจ ประกาศความร่วมมือครั้งสำคัญในโครงการ “ที่พักใจให้เยาวชน” เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยและดูแลสุขภาพจิตวัยรุ่น
โดยนำร่องกลุ่มนักเรียน นักศึกษาที่มีอายุ 15-25 ปี มีภูมิลำเนาตามบัตรประชาชน หรือเรียน/ทำงานในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 4,000 ราย ให้สามารถรับการปรึกษาด้านสุขภาพจิตกับจิตแพทย์ นักจิตวิทยาคลินิก นักจิตวิทยาการปรึกษา และอาสาสมัครผู้ดูแลใจ ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ระยะเวลาให้บริการถึงเดือนมิถุนายน 2568
พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้ความสำคัญ และตระหนักถึงสถานการณ์สุขภาพจิตของผู้เรียนในปัจจุบันเป็นอย่างมาก มีการดำเนินโครงการและกิจกรรมที่หลากหลาย ทั้งกิจกรรมแนะแนว กิจกรรมพัฒนาทักษะชีวิต เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจ โดยนำนโยบายการส่งเสริมสุขภาพกายและสุขภาพจิตสู่การปฏิบัติในสถานศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม ขณะเดียวกันก็ได้พัฒนาคุณภาพของครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้สามารถส่งเสริม สนับสนุน ดูแล และให้การช่วยเหลือนักเรียน นักศึกษา รวมทั้งมีการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง
โครงการ “ที่พักใจให้เยาวชน” จะเป็นการนำเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนช่วยดูแล และทำงานด้านสุขภาพจิต สนับสนุนให้ครูมีสื่อ และช่องทางแนะนำนักเรียน นักศึกษาให้สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิตกับผู้เชี่ยวชาญโดยตรงได้มากยิ่งขึ้น ทำให้ได้รับการดูแลสุขภาพจิตได้ทันต่อสถานการณ์ มีความปลอดภัย เกิดการเรียนรู้ที่สมวัยอย่างมีความสุข
นายแพทย์พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิต มีวิสัยทัศน์ให้ประชาชนมีสุขภาพจิตดี สู่สังคมและเศรษฐกิจมูลค่าสูง โดยการดูแลวัยรุ่นและเยาวชนไทยให้มีปัญญา อารมณ์ดี เป็นเยาวชนที่มีคุณภาพของสังคม ด้วยการสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพ ให้แก่ จิตอาสาผู้ที่ผ่านการอบรมให้เป็น “ผู้ดูแลใจ” ภายใต้ ‘โครงการที่พักใจให้เยาวชน’ เพื่อเพิ่มจำนวนบุคลากรทางด้านสุขภาพจิต ให้สามารถรองรับการดูแล ช่วยเหลือสุขภาพจิตของวัยรุ่นและเยาวชนในการให้บริการได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ โดยกรมสุขภาพจิตจะเป็นหน่วยงานในการรับ ส่งต่อ ติดตาม ดูแล ฟื้นฟู อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทุกคนได้มีโอกาสได้รับการดูแลช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตได้อย่างรวดเร็ว และเท่าเทียม
นางบุญสิงห์ มีมะโน ผู้แทนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 13 กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2567 สปสช. ได้สนับสนุนงบประมาณเพื่อเปิดทางเลือกให้เยาวชนในกรุงเทพมหานคร ที่มีภาวะเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิต มีความเสี่ยงต่อซึมเศร้าและ ฆ่าตัวตาย เข้าถึงบริการการประเมินความเครียด เข้ารับบริการให้การปรึกษาสุขภาพจิตทางไกล (Tele-mental health) โดยจิตแพทย์ นักจิตวิทยา หรือ ผู้สนับสนุนทางสุขภาพจิตผ่านแอปพลิเคชันอูก้า ซึ่งโครงการนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการผลักดันให้เยาวชนเกิดการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิตที่มีความทั่วถึง ถ้วนหน้า ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพจิตสำหรับทุกคนในอนาคต ช่วยลดผลกระทบจากการตีตราในผู้ที่มีปัญหาด้านจิตใจและทำให้วัยรุ่นและเยาวชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
แพทย์หญิงพันธุ์นภา กิตติรัตนไพบูลย์ ประธานมูลนิธิกำแพงพักใจ กล่าวว่า มูลนิธิกำแพงพักใจ ก่อตั้งขึ้นเพื่อช่วยลดอุปสรรคการเข้าถึงบริการสุขภาพจิตที่ดีและมีคุณภาพแก่เยาวชน ได้ให้บริการช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตแก่เยาวชนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562 มากกว่า 3,000 ราย โดยในปี 2567 นี้ ได้รับการสนับสนุนการทำงานเพื่อให้เยาวชนเข้าถึงโอกาสในการดูแลสุขภาพจิตมากยิ่งขึ้น สำหรับเยาวชนหรือครูที่ให้การปรึกษาสามารถแนะนำนักเรียน นักศึกษา อายุ 15-25 ปี ในเขตกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมโครงการที่พักใจให้เยาวชน ผ่านดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น ‘อูก้า’ (ooca) และเลือกสิทธิ์ “กำแพงพักใจ” เพื่อรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
“กระทรวงศึกษาธิการเน้นย้ำนโยบาย “ เรียนดี มีความสุข ” ด้วยการเรียนรู้อย่างมีความสุขและมีทักษะชีวิต ซึ่งความสุขทุกด้านจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยสุขภาพจิตที่ดี สดใส มีทัศนคติที่เป็นเชิงบวก ดังนั้นความสำเร็จของความร่วมมือในพื้นที่นำร่องเขตกรุงเทพมหานครครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นในการขยายบริการการดูแลและให้การปรึกษาสุขภาพจิต การสร้างพื้นที่ปลอดภัยเด็กและเยาวชนให้ครอบคลุมพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศต่อไป” พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. กล่าวทิ้งท้าย
ปารัชญ์ ไชยเวช/ข่าว
ศศิวัฒน์ แป้นคุ้มญาติ/ถ่ายภาพ
The post ศธ. นำร่องดูแลสุขภาพจิตผู้เรียนใน กทม. โครงการ “ที่พักใจให้เยาวชน” ผ่านแอปฯ ‘อูก้า’ (ooca) ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญโดยไม่มีค่าใช้จ่าย appeared first on กระทรวงศึกษาธิการ.