เสมา 1 มอบเข็ม ศธ.
22 กรกฎาคม 2567 / พลตำรวจ...
13 พฤศจิกายน 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 3/2567 โดยมีนายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ., นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการ กอศ., นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ., ผู้ตรวจราชการ ผู้บริหาร ศธ. ตลอดจนคณะกรรมการฯ ผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วม ณ ห้องประชุมราชวัลลภ และผ่านระบบ e-Meeting
รมว.ศธ. เปิดเผยว่า ที่ประชุมฯ ได้เห็นชอบ (ร่าง) แผนการตรวจราชการและติดตามประเมินผลการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปีงบประมาณ 2568 ตามนโยบาย จุดเน้นประเด็น ตัวชี้วัดการตรวจราชการและติดตามประเมินผลการจัดการศึกษาในการลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง มีแนวปฏิบัติในการตรวจราชการฯ แบ่งเป็น 3 ประเภท
การตรวจราชการกรณีปกติ : เป็นการตรวจราชการตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ โดยผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ตรวจราชการในภาพรวมของเขตตรวจราชการที่รับผิดชอบ ตามรอบการตรวจราชการ จำนวน 2 รอบ รอบที่ 1 ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2567 – 31 มีนาคม 2568 รอบที่ 2 ระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 30 กันยายน 2568
การตรวจราชการแบบบูรณาการ : เป็นการตรวจราชการร่วมกับผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี และผู้ตรวจราชการกระทรวงอื่น ตามแผนการตรวจราชการแบบบูรณาการของสำนักนายกรัฐมนตรี โดยผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ตรวจราชการในภาพรวมของเขตตรวจราชการที่รับผิดชอบ ตามรอบการตรวจจำนวน 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 15 มีนาคม 2568 ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม – 31 สิงหาคม 2568
การตรวจราชการกรณีพิเศษ : เป็นการตรวจราชการนอกเหนือจากปกติ ซึ่งไม่ได้กำหนดไว้ในแผนการตรวจราชการฯ ประจำปี ผู้ตรวจราชการสามารถลงพื้นที่ตรวจราชการได้ตลอดเวลา ตามรอบการตรวจราชการ เมื่อเกิดเหตุหรือกรณีที่มีผลกระทบต่อการจัดการศึกษา หรือกรณีมีภารกิจอื่นที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาเป็นกรณีพิเศษ
นอกจากนี้ยังได้รับทราบผลการตรวจราชการฯ รอบที่ 2 (1 เม.ย – 30 ก.ย. 2567) ประจำปีงบประมาณ 2567 นโยบายลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ในประเด็นปรับวิธีการประเมินวิทยฐานะครูและบุคลากรทางการศึกษามุ่งผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนเป็นสำคัญ, การพัฒนาหลักเกณฑ์ วิธีการแต่งตั้ง โอนย้ายของครูและบุคลากรทางการศึกษาให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ในภูมิลำเนาที่ตรงกับความประสงค์ของตนเอง เน้นพิจารณาด้วยความโปร่งใสและไม่มีการทุจริตคอร์รัปชัน, การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาให้เห็นผลเป็นรูปธรรม และจัดหาอุปกรณ์การสอนและสวัสดิการให้เพียงพอและเหมาะสม
นโยบายลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง ในประเด็นเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime) เรียนฟรี มีงานทำ “ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง” มีระบบหรือแพลตฟอร์มการเรียนรู้ โดยผู้เรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา, การจัดให้มีโรงเรียนคุณภาพ 1 โรงเรียนต่อ 1 อำเภอ, พัฒนาระบบการแนะแนวการเรียน (Coaching) และเป้าหมายชีวิตให้เป็นรูปธรรม, การจัดทำระบบวัดผลรองรับมาตรฐานวิชาชีพ (Skill Certificate) ผู้เรียนสามารถเรียนเพิ่ม เพื่อรับประกาศนียบัตรในการประกอบอาชีพ, การจัดทำระบบวัดผลเทียบระดับการศึกษา และประเมินผลการศึกษาเพื่อให้ผู้เรียนที่มีความสามารถเป็นเลิศ ไม่ต้องเสียเวลาเรียนในระบบ ประหยัดเวลาและประหยัดค่าใช้จ่าย และผู้เรียนเรียนรู้มีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ (Learn to Earn)
รวมถึงผลการดำเนินงานตามนโยบายที่ได้รับมอบหมายดำเนินการพิเศษเพิ่มเติมในประเด็นยกเลิกครูเวร : ชีวิตและความปลอดภัยของครูสำคัญกว่าทรัพย์สิน, จัดหานักการภารโรง, ปรับลดงานที่ไม่จำเป็นหรือซ้ำซ้อน, จ้างครูผู้ช่วย กรณีพิเศษ, อาหารกลางวันโรงเรียนขยายโอกาส, สุขาดี มีความสุข, ศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาล และการยกเว้น/ผ่อนผันแต่งเครื่องแบบนักเรียน
สำหรับความก้าวหน้าการดำเนินงานระบบข้อมูลสารสนเทศ เพื่อการตรวจราชการ ติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ (e-Inspection) ซึ่งกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ส่วนราชการ สำนักงานศึกษาธิการภาค สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด รวมผู้เกี่ยวข้องเข้ามาใช้งานระบบฯ จำนวน 48,263 คน (ข้อมูลล่าสุด 5 พ.ย. 67) ในส่วนของข้อมูลพื้นฐานการศึกษา การรายงานการติดตามผลการดำเนินงานตามนโยบาย รมว.ศธ. ในส่วนภูมิภาคพบว่าสำนักงาน ศธภ. รายงานผลการตรวจราชการและติดตามประเมินผลระดับภาค ครบ 18 ภาค ทั้ง 2 รอบ ด้านสำนักงาน ศธจ. รายงานผลการตรวจราชการและติดตามประเมินผลระดับจังหวัด รอบ 1 รายงาน 75 จังหวัด รอบ 2 รายงานครบทั้ง 77 จังหวัด
“การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินงานของ ศธ. ถือว่ามีความสำคัญในการบริหารในทุกมิติ เพื่อให้มั่นใจว่าการจัดการศึกษาสอดคล้องกับนโยบายและแผนการพัฒนาที่ได้วางไว้ และสามารถวัดผลความสำเร็จหรือหาจุดที่จำเป็นต้องปรับปรุง เพื่อให้การจัดการศึกษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังเป็นกระบวนการสำคัญในการตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินงานของสถานศึกษาและหน่วยงานในสังกัด เพื่อให้มั่นใจว่านโยบายการศึกษาและแผนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาถูกนำไปปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพและได้ผลตามเป้าหมายที่กำหนด” รมว.ศธ. กล่าวทิ้งท้าย
อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว – กราฟิก
สมประสงค์ ชาหารเวียง,
นัทสร ทองกำเหนิด / ภาพ
The post “เพิ่มพูน” มั่นใจ ระบบตรวจราชการฯ ศธ. ตอบโจทย์การบริหารงานทุกมิติ appeared first on กระทรวงศึกษาธิการ.