รมว.ศธ. “เพิ่มพูน” เป็นประธานการประชุมประสานภารกิจ ครั้งที่ 40/2567 ร่วมยินดีกับคณะครูนักเรียนไทยคว้าเหรียญทองแรก โอลิมปิกวิชาการนานาชาติ ด้านนวัตกรรมฯ พร้อมยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA ด้วยการพัฒนานักสร้างข้อสอบผ่านระบบออนไลน์ 78 Classroom และเร่งดำเนินการแก้ปัญหาเด็กนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็น “0” รวมทั้งพัฒนาผลการประเมินคุณภาพภายนอกของสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน แย้มเตรียมของขวัญส่งความสุขให้แก่ประชาชนด้วยกิจกรรมต่าง ๆ เนื่องในวันปีใหม่ วันเด็กแห่งชาติ วันครู ประจำปี 2568

20 พฤศจิกายน 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมประสานภารกิจ ครั้งที่ 40/2567 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ และผ่านระบบ e-Meeting

ภายหลังการประชุม รมว.ศธ. พร้อมด้วยนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ. นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ. นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการ กอศ. นายนิติ นาชิต รองเลขาธิการ สกศ. และนายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ. แถลงข่าว ณ ห้องแถลงข่าว

รมว.ศธ. กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีและชื่นชมครูรวมถึงน้อง ๆ นักเรียนทุกคนที่ได้รับรางวัลจากการเข้าร่วมประกวดโอลิมปิกวิชาการนานาชาติ ด้านนวัตกรรมการสร้างสรรค์โปรแกรมหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ครั้งที่ 8 (8th International Scratch Creative Programming Olympiad 2024) ณ ประเทศฟินแลนด์ ซึ่งถือเป็นปีแรกที่ประเทศไทยได้รับรางวัลเหรียญทองจากการแข่งขันในเวทีนี้ รางวัลที่ได้รับในครั้งนี้ไม่เพียงแต่เป็นการแสดงถึงความสามารถและความทุ่มเทในการเรียนรู้ของนักเรียนเท่านั้น แต่ยังแสดงถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและการสนับสนุนจากครูและผู้ปกครองที่ดี ขอเป็นกำลังใจให้คณะครูและนักเรียนทุกคนได้มุ่งมั่นในการพัฒนาต่อไป

สำหรับนักเรียน คุณครู ผู้ได้รับเหรียญรางวัลจากการประกวดในระดับนานาชาติร่วมกับ 45 ประเทศทั่วโลก แบ่งตามประเภทการแข่งขัน ได้แก่

6th International Scratch Creative Programming Olympiad 2022
1. ด.ช.วัชรวิชญ์ กลิ่นสุคนธ์ รางวัลเหรียญเงิน Scratch Teen โรงเรียน Newton Sixth Form กรุงเทพฯ สังกัด สช.
2. นายภูมิมนัส แสงแก้ว รางวัลเหรียญทองแดง Scratch Youth โรงเรียนรัษฎา จ.ตรัง สังกัด สพฐ.

7th International Scratch Creative Programming Olympiad 2023
1. นายอรรณพ แตงอ่อน รางวัลเหรียญทองแดง Scratch Master ครูโรงเรียนไตรประชาสามัคคี จ.นครสวรรค์ สังกัด สพฐ.
2. นางสาวภาวินี ไชยภาค รางวัลเหรียญทองแดง ROBBO Master 18+ บุคคลทั่วไป

8th International Scratch Creative Programming Olympiad 2024
1. นายกำจร ยั่งยืน รางวัลเหรียญทอง ROBBO Master 18+ รองผู้อํานวยการโรงเรียนรพีเลิศวิทยา จ.ลําพูน สังกัด สพฐ.
2. นายอรรณพ แตงอ่อน รางวัลเหรียญเงิน ROBBO Master 18+ โรงเรียนไตรประชาสามัคคี จ.นครสวรรค์ สังกัด สพฐ.
3. เด็กชายภาวิน พัฒนเวคิน รางวัลเหรียญเงิน Scratch Kid อายุ 7-8 ปี โรงเรียน HeadStart International School Phuket จังหวัดภูเก็ต สังกัด สช.

สาระสำคัญจากการประชุม โดยสรุป ดังนี้

การขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA

รมว.ศธ. กล่าวว่า การขับเคลื่อน PISA นั้น ขอให้มีการตรวจสอบความพร้อมของการใช้เทคโนโลยี หรือการสอบในระบบออนไลน์ เพื่อให้เด็กสามารถใช้เครื่องมือได้มากที่สุด จะช่วยลดระยะเวลาในการทำข้อสอบของนักเรียนได้ และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับเด็กทุกกลุ่ม ที่สำคัญครูควรได้รับการฝึกอบรมและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถใช้เทคนิคการสอนที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ

แผนการขยายผลพัฒนาและสร้างข้อสอบความฉลาดรู้ด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ โดยมีรูปแบบในการพัฒนาผ่านระบบออนไลน์รูปแบบ Classroom 78 Classroom มี 77 จังหวัด + 1 รองรับผู้บริหารและครู 245 เขตพื้นที่ + 1 สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ เพื่อให้ผู้บริหารและครูได้รับทราบถึงแนวทางการสร้างและพัฒนาข้อสอบวัดความฉลาดรู้ฯ (PISA) ทั้ง 3 ด้าน และสามารถออกแบบและสร้างข้อสอบได้ ซึ่งจะขยายผลให้ครูทุกชั้นจำนวนกว่า 4 แสนคน โดยแบ่งตามความสนใจและความถนัด และจะขายผลไปยังสถานศึกษาในสังกัด สช. อว. สถ. กทม. และ สอศ. ให้ครอบคลุมทุกมิติ

การแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษาให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา

รมว.ศธ. กล่าวว่า มาตรการในการแก้ไขปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษานั้น ได้มอบหมาย

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงาน เปรียบดั่งเป็นมันสมองในการคิด
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยดำเนินการในการพัฒนาระบบและเป็นหลักในการรวบรวมฐานข้อมูล
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กรมส่งเสริมการเรียนรู้ และหน่วยงานในสังกัดและในกำกับทุกหน่วยงาน เป็นหน่วยสนับสนุน
สำหรับข้อมูลและจำนวนเด็กและเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษา ดำเนินงานโดยศูนย์เทคโนโลยีและสารสนเทศ สป. ในการพัฒนาระบบและสำรวจจำนวนเด็ก ให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำมากที่สุด เพื่อให้ใช้ข้อมูลร่วมกันในทุกระบบการศึกษา ร่วมมือกันขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อให้เด็กและเยาวชนกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา โดยมิติของการดำเนินงานคือ ยึดแนวทาง 3 ด้าน ในการ “ป้องกัน แก้ไข ส่งต่อ” เพื่อแก้ปัญหาเด็กนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็น “0”

“การป้องกัน” สำหรับมาตรการในการป้องกันเด็กและเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษา ให้หน่วยงานที่มีหน้าที่เร่งหามาตราการที่เหมาะสม ทั้งบริบทของหน่วยการศึกษาและพื้นที่ เร่งการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการศึกษาของเด็กและเยาวชนในประเทศที่มีสัญชาตไทย เพื่อให้การศึกษาสามารถเข้าถึงทุกคนอย่างเท่าเทียมและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยเฉพาะผู้ปกครองต้องมีการให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับสิทธิในการศึกษาและการช่วยเหลือทางการศึกษา เพื่อจะช่วยให้ผู้ปกครองรู้จักวิธีการสนับสนุนและส่งเสริมการศึกษาของบุตรหลานอย่างมีประสิทธิภาพ การปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาและสภาพแวดล้อมการเรียน การสนับสนุนทุนการศึกษาหรือสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเรียน จะช่วยให้เด็กสามารถเรียนต่อได้โดยไม่ต้องออกจากระบบ การสร้างเครือข่ายความร่วมมือ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน และการใช้ระบบการติดตามและเฝ้าระวัง

“การแก้ไข” จากระบบฐานข้อมูลการติดตามข้อมูลเด็กนอกระบบการศึกษาแบบเรียลไทม์ ซึ่งมีการนำข้อมูลนักเรียนในระบบการศึกษาภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2567 ตรวจสอบกับเด็กนอกระบบการศึกษา เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลผลการติดตามเด็กนอกระบบการศึกษากับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา นำมาตรวจสอบกับเด็กนอกระบบ และส่งต่อไปยังสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ให้ดำเนินการติดตามเด็กนอกระบบการศึกษา โดยเฉพาะเด็กที่มีสัญชาติไทยและอยู่ในระบบการศึกษาภาคบังคับ ส่วนเด็กที่มีสัญชาติอื่น หรือเป็นเด็กไร้สัญชาติให้เป็นไปตามความสมัครใจ

“การส่งต่อ” เด็กและเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษา โดยการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานทางการศึกษาในพื้นที่ มีการนำกระบวนการติดตามและส่งต่อเด็กนอกระบบการศึกษาให้กับเข้าสู่ระบบการศึกษา อาทิ เด็กอายุ 3 – 15 ปี ส่งต่อให้กับ สพฐ. เพื่อนำเข้าสู่ระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน เด็กอายุ 16 – 18 ปี ส่งต่อให้กับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และกรมส่งเสริมการเรียนรู้ หรือเด็กยากจนส่งข้อมูลให้กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และส่วนเด็กที่ไม่ต้องการเข้าสู่ระบบการศึกษา ให้ส่งต่อข้อมูลให้จัดหางานจังหวัด ซึ่งการส่งต่อนั้นจะเป็นการช่วยเหลือและให้โอกาสกลับเข้าสู่การศึกษาในระบบอย่างเป็นทางการอีกครั้ง โดยปรับรูปแบบการเรียนให้เหมาะสมกับชีวิตประจำวัน

การพัฒนาการผลการประเมินคุณภาพภายนอกของสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน

รมว.ศธ. กล่าวว่า การจัดทำระบบการประเมินมาตรฐานการประกันคุณภาพฯ ทั้งด้านผู้เรียน ผู้สอน การจัดการเรียนการสอน และด้านการบริหารจัดการ ซึ่งมีสถานศึกษาถึง 37,644 แห่ง เป็นมิติของการส่งเสริมการนำระบบเทคโนโลยีมาใช้ในการประเมิน การส่งเสริมความโปร่งใสและความรับผิดชอบในระบบการศึกษา เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพการศึกษาและผลการประเมินของสถานศึกษา เพื่อนำข้อมูลจากการประเมินมาใช้ในการปรับปรุงและพัฒนาการจัดการศึกษาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังต้องสนับสนุนการใช้เครื่องมือและมาตรฐานการประเมินที่มีความทันสมัยและครอบคลุมในทุกด้าน เพื่อให้การประเมินเป็นเครื่องมือที่ช่วยส่งเสริมการพัฒนาและยกระดับคุณภาพการศึกษาให้ดียิ่งขึ้น ทั้งการศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและการศึกษาเอกชน

สำหรับมิติด้านข้อมูล สิ่งที่สำคัญคือสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลหรือการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ ต้องคำนึงถึงความถูกต้อง แม่นยำ และความสำคัญของข้อมูล เพื่อสะท้อนถึงแบบอย่างที่ดีในการดำเนินงาน และเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบในการตรวจราชการผ่านระบบสารสนเทศเพื่อการประเมินคุณภาพภายนอกและนำไปใช้ประโยชน์ในการติดตามสถานศึกษา

แนวทางการจัดงานฉลองวันปีใหม่ วันเด็กแห่งชาติ วันครู กระทรวงศึกษาธิการ ประจำปี 2568

รมว.ศธ. กล่าวว่า การจัดกิจกรรมแห่งความสุขของกระทรวงศึกษาธการ ทั้งวันปีใหม่ วันเด็กแห่งชาติ และวันครู กระทรวงศึกษาธิการ ประจำปี 2568 ขอให้มีการเตรียมงานและแนวทางการจัดงานที่เหมาะสมกับ สร้างความสุข ส่งเสริมการศึกษา และกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อเด็กและเยาวชน รวมทั้งการแสดงความขอบคุณครูและบุคลากรทางการศึกษา ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” เพื่อเป็นการมอบของขวัญหรือการส่งความสุขให้แก่ประชาชนด้วยกิจกรรมต่าง ๆ ที่ ศธ. จัดขึ้น

ในมิติของการดำเนินงานขอให้มีการวางแผนอย่างละเอียดรอบคอบ นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดงาน เช่น การจัดงานออนไลน์ หรือการถ่ายทอดสด การสร้างความสุขและเสริมสร้างทักษะ เน้นกิจกรรมที่ทำให้ผู้เข้าร่วมงานมีความสุขได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ตลอดจนใช้สื่อออนไลน์มาช่วยในการประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่าง ๆ

“การขับเคลื่อนดำเนินภารกิจต่าง ๆ ขอให้ทุกคน “ร่วมกันคิด แบ่งกันทำ” เพื่อนำความสำเร็จมาสู่ ศธ. การ “ร่วมกันคิด” ช่วยให้เกิดมุมมองที่หลากหลาย และการ “แบ่งกันทำ” จะทำให้การลงมือทำเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างการมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์และปฏิบัติงานร่วมกัน” รมว.ศธ. กล่าว

อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว
ศุภณัฐ วัฒนมงคลลาภ / วีดิทัศน์
ศศิวัฒน์ แป้นคุมญาติ/ ภาพ

The post เสมา 1 ชื่นชมคณะครู – นักเรียนไทยคว้าเหรียญทองแรกโอลิมปิกวิชาการด้านนวัตกรรม พร้อมเร่งแก้ปัญหาเด็กนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็น “0” appeared first on กระทรวงศึกษาธิการ.

Share This Article

Related Post