กระทรวงศึกษาธิก
19 ธันวาคม 2567 – พลตำรวจ...
2 พฤษภาคม 2568 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบหมายให้ นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพความร่วมมือของเครือข่ายการศึกษาเพื่อความเข้าใจอันดีระหว่างชาติขององค์การยูเนสโก (UNESCO Associated Schools Project Network: ASPnet) ณ โรงแรมปรินซ์ พาเลซ กรุงเทพมหานคร
รองปลัด ศธ. กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้การนำของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กำหนดนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” มีเป้าหมายชัดเจนในการที่จะพัฒนาผู้เรียนให้ได้เรียนรู้และปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม และเสริมสร้างสมรรถนะต่างๆ ผ่านกิจกรรมอย่างหลากหลาย เพื่อให้นักเรียนมีความสุขในการเรียน ซึ่งจะนำไปสู่การมีความสุขในการดำรงชีวิต ทั้งนี้การเรียนรู้จากต้นแบบที่ดีและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน มีความสำคัญจำเป็นในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา
สำหรับการบูรณาการแนวคิดความยั่งยืนในระบบการศึกษาของไทยนั้น จำเป็นต้องอาศัยกลไกความร่วมมือที่หลากหลาย เพื่อให้การปลูกฝังความรู้ ความเข้าใจ และทักษะที่จำเป็นสำหรับการเป็นพลเมืองโลกที่มีความรับผิดชอบสามารถเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ หนึ่งในกลไกสำคัญที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญมาโดยตลอด คือ การส่งเสริมกิจกรรมด้าน Education for Sustainable Development (ESD) ในสถานศึกษาเครือข่ายการศึกษาเพื่อความเข้าใจอันดีระหว่างชาติขององค์การยูเนสโก (UNESCO Associated Schools Project Network : ASPnet) ซึ่งเป็นเครือข่ายระดับโลกที่มุ่งเน้นการบูรณาการหลักการของการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และการศึกษาเพื่อการเป็นพลเมืองโลกลงสู่กิจกรรมการเรียนการสอนและการบริหารสถานศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม
เครือข่าย ASPnet นับเป็นเวทีความร่วมมือระดับโลกของโรงเรียนที่ยึดถือค่านิยมหลักของยูเนสโก ได้แก่ สันติภาพ ความยั่งยืน สิทธิมนุษยชน การเคารพในความหลากหลายทางวัฒนธรรม และการเป็นพลเมืองโลก ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงเรียน ASPnet กว่า 129 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งถือเป็นกลุ่มนำร่องในการขับเคลื่อนแนวคิดการศึกษาเพื่อความยั่งยืนในระดับพื้นที่ การเข้าร่วมเครือข่าย ASPnet ไม่เพียงเปิดโอกาสให้โรงเรียนไทยได้เชื่อมโยงกับเครือข่ายระดับนานาชาติ แต่ยังเป็นพื้นที่ในการเรียนรู้ ทดลอง และพัฒนาแนวทางการจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับหลักการของยูเนสโก และวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
“โรงเรียน ASPnet มีเป้าหมายที่จะสร้าง “พื้นที่เรียนรู้ที่มีชีวิต” ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการปลูกฝังแนวคิดเรื่องความยั่งยืน และการเป็นพลเมืองโลก เพื่อขับเคลื่อนสังคมไทย สู่อนาคตที่สงบสุข ยั่งยืน และเท่าเทียม”
Ms.Faryal Khan, Programme Specialist สำนักงาน UNESCO กรุงเทพฯ กล่าวว่า การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Education for Sustainable Development – ESD) เป็นกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่มุ่งเสริมสร้างความรู้ ทักษะ ค่านิยม และทัศนคติให้ผู้เรียนสามารถเผชิญกับความท้าทายระดับโลกอย่างมีความรับผิดชอบ โดยเป็นส่วนสำคัญของการศึกษาที่มีคุณภาพ ครอบคลุมทั้งเนื้อหา วิธีการสอน ผลลัพธ์การเรียนรู้ และสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ โดยการดำเนินงานผ่านเครือข่ายสถานศึกษาเพื่อความเข้าใจอันดีระหว่างชาติขององค์การยูเนสโก (UNESCO Associated Schools Network – ASPnet) โรงเรียนสามารถบูรณาการหลักการ ESD ในหลักสูตรและกิจกรรมของตน ส่งเสริมการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมและการลงมือปฏิบัติจริง พัฒนาทักษะชีวิต ความรับผิดชอบต่อสังคม และจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงสร้างความร่วมมือระหว่างโรงเรียนในระดับประเทศและนานาชาติ เพื่อขับเคลื่อนการศึกษาให้มีความเกี่ยวข้องกับชีวิตและนำไปสู่สังคมที่เป็นธรรมและยั่งยืนยิ่งขึ้น
“การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Education for Sustainable Development – ESD) เป็นกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่มุ่งเสริมสร้างความรู้ ทักษะ ค่านิยม และทัศนคติให้ผู้เรียนสามารถเผชิญกับความท้าทายระดับโลกอย่างมีความรับผิดชอบ”
การประชุมฯ ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริหาร ครู และนักเรียนในเครือข่าย ASPnet สามารถประยุกต์ใช้แนวคิด ESD ภายในสถานศึกษาและชุมชนของตนเอง รวมถึงส่งเสริมความเข้าใจต่อบทบาทของยูเนสโกในบริบทของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยเฉพาะเป้าหมายด้านการศึกษา เป้าหมายย่อย SDG 4.7 ผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วยผู้บริหารสถานศึกษา ครู อาจารย์ และนักเรียนจากเครือข่าย ASPnet ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมกว่า 100 คน โดยตลอดทั้งวันมีการบรรยายพิเศษจากผู้ทรงคุณวุฒิ การเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้าน ESD และการประชุมเชิงปฏิบัติการกลุ่มย่อย เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้พัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ ออกแบบแนวทางการจัดการศึกษาที่ส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนให้สอดคล้องกับบริบทของตนเองอย่างเป็นรูปธรรม
พนิดา ทวีลาภ,
ภัสศรี ศิริประภา / ข่าว
ธนภัทร จันทร์ห้างหว้า / ภาพ
The post กระทรวงศึกษาธิการ ขับเคลื่อนงาน UNESCO Associated Schools Project Network: ASPnet สร้าง “พื้นที่เรียนรู้ที่มีชีวิต” appeared first on กระทรวงศึกษาธิการ.