จำนวนครู และบุค
The post จำนวนครู และบุคล...
27 มกราคม 2568 นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับมอบหมายจากปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในการพูดคุยหารือร่วมกับ Mr. Danny Whitehead ผู้อำนวยการ บริติช เคานซิล ประเทศไทย Mr. Ewan Macrae หัวหน้าฝ่ายวิชาการ พร้อมด้วยทีมงานด้านโครงการและการทดสอบภาษาอังกฤษ โดยมีผู้แทนฝ่ายกระทรวงศึกษาธิการ ประกอบด้วย หม่อมหลวงปริยดา ดิศกุล ประธานกรรมการส่งเสริมการพัฒนาภาษาต่างประเทศเพื่อการสื่อสารสำหรับประชาชนทุกช่วงวัยกระทรวงศึกษาธิการ ผู้ชวยศาสตราจารย์ ดร.พลรพี ทุมมาพันธ์ รองเลขาธิการคุรุสภา ผู้แทนจากศูนย์บริหารงานการพัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กรมส่งเสริมการเรียนรู้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วม ณ ห้องประชุมจันทรเกษม กระทรวงศึกษาธิการ
การหารือดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนและต่อยอดความร่วมมือด้านการส่งเสริมศักยภาพภาษาอังกฤษแก่ครูในสถานศึกษาภายใต้ ReBootproject และความร่วมมือด้านการเรียนการสอน และการประเมินภาษาอังกฤษ โดยเมื่อปี พ.ศ. 2566 บริติช เคานซิล ประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดำเนินการโครงการ ReBoot pilot project: an online Continuing Professional Development (CPD) programme ซึ่งเป็นโครงการนำร่องในการอบรมครูที่สอนภาษาอังกฤษ และครูแกนนำจากศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ (Human Capital Excellence Center : HCEC) รวมจำนวน 200 คน เพื่อยกระดับทักษะครูสอนภาษาอังกฤษ และทักษะด้านดิจิทัลผ่านการเรียนรู้แบบดิจิทัลแพลตฟอร์ม ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โดยบริติช เคานซิล ประเทศไทย มีแผนที่จะดำเนินโครงการในระยะที่สองในปี 2568 ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือโรงเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาทางภาคใต้ ทั้งนี้ ได้มีการแลกเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาศักยภาพครูสอนภาษาอังกฤษ
รองปลัด ศธ. กล่าวว่า ขอบคุณบริติช เคานซิลประเทศไทย ที่มีความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการมาโดยตลอดอย่างต่อเนื่อง ในการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งนักเรียนในสังกัด นอกจากนี้ได้กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการและสหราชอาณาจักร ซึ่งจะครอบคลุมความร่วมมือด้านการศึกษาและเทคโนโลยีซึ่งจะมีโครงการริเริ่มที่หลากหลาย นับเป็นโอกาสอันดีเนื่องในโอกาสครบรอบ 170 ปีของความสัมพันธ์ทางการทูตของทั้งสองประเทศ และโอกาสครบรอบ 90 ปีของการก่อตั้ง British Council ด้วย
หม่อมหลวงปริยดา ดิศกุล ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาการสอนในยุคใหม่ ซึ่งต้องนำเทคโนโลยีและแอปพลิเคชันมาใช้ให้เกิดประโยชน์ การส่งเสริมการใช้ภาษาอังกฤษในชุมชน เช่น English village Buriram Reform ให้หมู่บ้านใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะนำร่องโครงการที่จังหวัดบุรีรัมย์ การสนับสนุนคุณสมบัติครูผู้สอนภาษาอังกฤษให้อยู่หรือสูงกว่าในระดับมาตรฐาน ซึ่ง ผศ.ดร.พลรพี ทุมมาพันธ์ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการกำหนดคุณสมบัติมาตรฐานวิชาชีพครูภาษาอังกฤษ การอบรมครูเพื่อพัฒนาศักยภาพ รวมถึงความรู้ด้าน Financial Literacy Training Course
นอกจากนี้ หน่วยงานต่าง ๆ ได้แลกเปลี่ยนความท้าทายการดำเนินงานด้านการพัฒนาศักยภาพครูสอนภาษาอังกฤษ การเร่งส่งเสริมทักษะของครูสอนภาษาอังกฤษของอาชีวศึกษาทั้งวิชาสามัญและวิชาชีพเพื่อมีทักษะให้มากยิ่งขึ้นในการ ถ่ายทอดไปยังนักเรียน นักศึกษา เนื่องจากปัจจุบันตลาดแรงงานและบริษัทต่าง ๆ กำหนดคุณสมบัติด้านภาษาอังกฤษเป็นข้อสำคัญในการรับเข้าทำงาน จึงต้องพัฒนาครูและนักเรียนให้มีทักษะภาษาให้ตรงตามมาตรฐาน จำนวนครูภาษาอังกฤษมีน้อย เช่น ในศูนย์การเรียนชุมชนของกรมส่งเสริมการเรียนรู้ อีกทั้งเนื้อหาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษอยู่ในระดับการสื่อสารทั่วไป หากได้รับการส่งเสริมเรื่องจำนวนและศักยภาพครูภาษาอังกฤษ ก็จะช่วยให้การเรียนการสอนภาษาอังกฤษมีมาตรฐานมากขึ้นการพัฒนาวิชาชีพครูภาษาอังกฤษตั้งแต่การเรียนครูเพื่อให้มีคุณภาพ การหารือร่วมกันในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการวัดและประเมินผลภาษาอังกฤษเพื่อตอบสนองแต่ละกลุ่มเป้าหมาย เป็นต้น ซึ่งบริติช เคานซิล ประเทศไทย ได้รับฟังและตระหนักถึงปัญหาท้าทายดังกล่าว และมีความยินดีที่จะให้การสนับสนุนกระทรวงศึกษาธิการในการพัฒนาการเรียนการสอน รวมถึงการประเมินภาษาอังกฤษเพื่อให้มีมาตรฐานต่อไป
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป. / ข่าว
ศุภณัฐ วัฒนมงคลลาภ / ภาพ
ธรรมนารี ชดช้อย / กราฟิก