มาตรการป้องกันการทุจริตการบรรจุบุคคลผู้ซึ่งเคยออกจากราชการ เพราะกระทำผิดวินัยฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ห้ามกลับเข้ารับราชการโดยเด็ดขาด
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบมาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการบรรจุบุคคลผู้ซึ่งเคยออกจากราชการเพราะกระทำผิดวินัยฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการกลับเข้ารับราชการ โดยให้สำนักงาน ก.พ. สรุปผลการพิจารณา/ผลการดำเนินการ/ความเห็นในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้รับแจ้งจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ขอให้นำมาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการบรรจุบุคคลผู้ซึ่งเคยออกจากราชการเพราะกระทำผิดวินัยฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการกลับเข้ารับราชการเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา เช่น
1) ให้นำบทบัญญัติของพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาเป็นบรรทัดฐานเพื่อแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของหน่วยงานของรัฐ โดยให้มีข้อกำหนดว่าเจ้าพนักงานของรัฐที่เคยถูกสั่งให้ออกจากราชการหรือออกจากการทำงานในหน่วยงานของรัฐ เพราะกระทำผิดวินัยฐานทุจริตต่อหน้าที่ เป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามในการขอกลับเข้ารับราชการหรือกลับเข้าทำงานในหน่วยงานของรัฐ และไม่ให้บรรจุแต่งตั้งเข้ารับราชการหรือบรรจุเข้าทำงานในหน่วยงานของรัฐโดยเด็ดขาด และกำหนดบทลงโทษสำหรับผู้บังคับบัญชากรณีรับผู้ที่เคยกระทำการทุจริตต่อหน้าที่กลับเข้ารับราชการหรือกลับเข้าทำงานในหน่วยงานของรัฐ ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ครอบคลุมหน่วยงานของรัฐทุกประเภท และให้ถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
2) ขอความร่วมมือไปยังองค์กรกลางบริหารงานบุคคลของเจ้าพนักงานของรัฐประเภทต่าง ๆ ให้นำมติ ก.พ. ตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1011/ว 16 ลงวันที่ 23 กันยายน 2556 เรื่อง การบรรจุบุคคลผู้ซึ่งเคยออกจากราชการเพราะกระทำผิดวินัยฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการกลับเข้ารับราชการ มาใช้เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติในการพิจารณารับบรรจุผู้ซึ่งเคยออกจากราชการจากการทำงานในหน่วยงานของรัฐเพราะกระทำผิดวินัยฐานทุจริตต่อหน้าที่แล้วขอกลับเข้ารับราชการหรือขอกลับเข้าทำงานในหน่วยงานของรัฐอีก ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ที่บัญญัติให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่และอำนาจเสนอมาตรการความเห็น และข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีและเมื่อคณะรัฐมนตรีได้รับแจ้งมาตรการฯ ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้ว หากเป็นกรณีที่ไม่อาจดำเนินการได้ ให้แจ้งปัญหาและอุปสรรคต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบต่อไป
ทั้งนี้ ไม่เกิน 90 วันนับแต่ได้รับแจ้งจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. (ครบกำหนดวันที่ 8 มิถุนายน 2568)
แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่ รองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) ประธานกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จำนวน 8 คน เนื่องจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสี่ปี ดังนี้
- รองศาสตราจารย์ประภาภัทร นิยม
- นางปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร
- นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์
- นายสมศักดิ์ พะเนียงทอง
- รองศาสตราจารย์ประวิต เอราวรรณ์
- ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ
- รองศาสตราจารย์ปัทมาวดี โพชนุกูล
- รองศาสตราจารย์สุธีระ ประเสริฐสรรพ์
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2568 เป็นต้นไป
แต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการสภาการศึกษา
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเสนอ คือ รับทราบกรณี นางกัมเลช มันจันดา พ้นจากตำแหน่งกรรมการที่เป็นผู้แทนองค์กรศาสนาอื่นในคณะกรรมการสภาการศึกษา และเห็นชอบแต่งตั้ง นายธงชัย ประดับชนานุรัตน์ เป็นกรรมการที่เป็นผู้แทนองค์กรศาสนาอื่นในคณะกรรมการสภาการศึกษา แทนกรรมการ ที่เป็นผู้แทนองค์กรศาสนาอื่นเดิมที่พ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระเนื่องจากขอลาออก
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2568 เป็นต้นไป
แต่งตั้งข้าราชการการเมือง กระทรวงศึกษาธิการ
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเสนอ แต่งตั้งนางสาวพิมพ์พร ชีวานันท์ เป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2568 เป็นต้นไป
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน