รมว.ศธ. “เพิ่มพูน” เป็นประธานการประชุมประสานภารกิจ ครั้งที่ 13/2568 เผย ศธ. ประเทศไทย ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ กับกระทรวงศึกษาธิการ อาชีวศึกษาและการกีฬา แห่งราชอาณาจักรสเปน เพื่อส่งเสริมและพัฒนาการเรียนการสอนภาษาและวัฒนธรรม ถือเป็นความร่วมมือที่สำคัญในการพัฒนาการศึกษาของทั้งสองประเทศ กำชับหน่วยงานเร่งดำเนินการเตรียมการ เตรียมข้อมูล และรายงานให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ให้เป็นไปตามไทม์ไลน์ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบรายละเอียดงบประมาณ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2569 ใน พ.ค. นี้ พร้อมส่งเสริมพหุปัญญาและ AI เป็นแนวทางที่ช่วยเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้เด็กสามารถอยู่ในระบบการศึกษาได้ยาวนานขึ้น ฝากบุคลากรทุกคนพัฒนาสมรรถนะของตนเองต่อเนื่องผ่านการอบรมและการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพราะความรู้เป็นสิ่งที่ไม่มีวันหมดอายุ เปรียบเสมือน “มีดที่ต้องหมั่นลับให้คมอยู่เสมอ”

30 เมษายน 2568 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมประสานภารกิจ ครั้งที่ 13/2568 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ และผ่านระบบ e-Meeting ภายหลังการประชุม รมว.ศธ. พร้อมด้วย รมช.ศธ. และผู้บริหารระดับสูง แถลงข่าว ณ ห้องแถลงข่าว

รมว.ศธ. กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการแห่งราชอาณาจักรไทย กับกระทรวงศึกษาธิการ อาชีวศึกษาและการกีฬา แห่งราชอาณาจักรสเปน ว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษา เพื่อส่งเสริมและพัฒนาการเรียนการสอนภาษาและวัฒนธรรมสเปน ถือเป็นความร่วมมือที่สำคัญในการพัฒนาการศึกษาของทั้งสองประเทศ และยังเปิดโอกาสให้นักเรียนได้สัมผัสกับความหลากหลายทางวัฒนธรรมและการศึกษานานาชาติ รวมถึงการพัฒนาวิชาชีพและแลกเปลี่ยนทางวิชาการแก่นักเรียน ครู และผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาผ่านกิจกรรมร่วมกัน ภาษาสเปนถือเป็นภาษาที่สำคัญในการพัฒนาและส่งเสริมให้มีการเรียนการสอนในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา

ในมิติของกระทรวงศึกษาธิการ ต้องมีการจัดทำแผนและวางกรอบในการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ เพื่อรวบรวมและนำเสนอประเด็นต่าง ๆ ที่มีประโยชน์ในการต่อยอดการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพและเกิดผลเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการบูรณาการหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาและวัฒนธรรมสเปนเข้ากับระบบการศึกษาของไทยอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาของ ศธ. รวมถึงการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือระดับนานาชาติ เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนไทยได้มีประสบการณ์ด้านการเรียนรู้ในบริบทสากลมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้กระทรวงศึกษาธิการจะร่วมมือกับสถาบันการศึกษา หน่วยงานด้านภาษา และองค์กรภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันการเรียนการสอนภาษาสเปนให้มีคุณภาพ ตั้งแต่การพัฒนาหลักสูตร การอบรมครูผู้สอนที่มีความเชี่ยวชาญ และการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งสนับสนุนให้โรงเรียนที่มีศักยภาพสามารถจัดตั้งห้องเรียนพิเศษหรือโครงการต้นแบบด้านภาษาสเปน เพื่อยกระดับศักยภาพทางภาษาของนักเรียนไทยในระยะยาว กระทรวงศึกษาธิการเชื่อมั่นว่า ความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นก้าวสำคัญในการสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างสองประเทศ และส่งเสริมการพัฒนาทางการศึกษาอย่างยั่งยืนในอนาคตร่วมกัน

สรุปสาระสำคัญจากการประชุม ดังนี้

งบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการ ในปีงบประมาณปี 2569

รมว.ศธ. กล่าวว่า สำหรับความก้าวหน้าเกี่ยวกับงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการ ในงบประมาณปี 2569 ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเตรียมการ เตรียมข้อมูล และรายงานให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อให้เป็นไปตามไทม์ไลน์ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบรายละเอียดงบประมาณ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2569 ในเดือนพฤษภาคมนี้ และใช้ประกอบการวางแผนและจัดสรรงบประมาณในปีงบประมาณถัดไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาการศึกษา และสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาและรัฐบาล

การลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานด้านการศึกษาตามนโยบายรัฐบาลฯ

รมว.ศธ. กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานด้านการศึกษาตามนโยบายรัฐบาล ก่อนการประชุม ครม. อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 2/2568 ในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 (จังหวัดสกลนคร นครพนม และมุกดาหาร) ณ โรงเรียนนครพนมวิทยาคม ได้มีการพบปะพูดคุยและรับฟังข้อมูลการดำเนินงานด้านการศึกษาจากหน่วยงานในพื้นที่ และได้ตรวจเยี่ยมศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครพนม ซึ่งปัจจุบันมีห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์และอาคารสถานที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ จึงขอให้ สกร. ดำเนินการปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่องให้มีความพร้อมมากยิ่งขึ้น ทั้งด้านอาคารสถานที่ อุปกรณ์ เครื่องมือ และบุคลากรเพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์ สำหรับโรงเรียนต่าง ๆ ที่มีความพร้อมด้านห้องเรียนวิทยาศาสตร์หรือห้องปฏิบัติการต่าง ๆ ขอให้มีการบูรณาการการใช้งานร่วมกัน โดยให้ทุกหน่วยงานสำรวจทรัพยากรที่มีอยู่ หากยังสามารถใช้งานได้ให้เร่งนำมาใช้ประโยชน์

“เมื่อเรามีสถานที่ที่มีประโยชน์ มีความพร้อม ก็ขอให้นำมาใช้งานอย่างเหมาะสม มีการบูรณาการการใช้งานร่วมกัน หากมีสิ่งใดไม่พร้อมใช้งานให้ดำเนินการปรับปรุง ซ่อมแซม ให้สามารถใช้งานได้และเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามาใช้ทรัพยากรเหล่านี้ร่วมกัน โดยต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้เข้าถึงและเกิดประโยชน์อย่างทั่วถึง”

การเตรียมการเปิดเทอมในภาคเรียนที่ 1/2568

รมว.ศธ. กล่าวว่า สำหรับการเตรียมความพร้อมในการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2568 กระทรวงศึกษาธิการ ได้กำหนดให้มีการประชุมร่วมกันระหว่าง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีช่วยว่าการฯ ผู้บริหารจากทุกองค์กรหลัก และศึกษาธิการจังหวัดทั่วประเทศ ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2568 ณ หอประชุมคุรุสภา เพื่อหารือและกำหนดแนวทางการดำเนินงานด้านการจัดการศึกษาในภาคเรียนใหม่ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งติดตามความพร้อมของสถานศึกษาในทุกมิติ อาทิ ด้านความปลอดภัย หลักสูตร บุคลากร และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศต่อไป

การขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพการศึกษาสู่มาตรฐานสากล

รมว.ศธ. กล่าวว่า ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานนั้น ขอให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ ผู้บริหาร ครู เพื่อให้รับรู้ รับทราบ ถึงแนวนโยบาย ปัญหา อุปสรรคต่าง ๆ เพื่อนำมาสู่การปฏิบัติร่วมกัน ความก้าวหน้าการขยายผลการอบรมการสร้างและพัฒนาข้อสอบฯ ในระดับเขตพื้นที่ ทั้งในด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ซึ่งในปัจจุบันได้เห็นผลลัพธ์ที่ค่อนข้างน่าพอใจ จากการฝึกอบรมและพัฒนาผู้สอน ซึ่งทำให้การดำเนินการใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ มีผู้ลงทะเบียนอบรมไปแล้วกว่า 437,567 คน (98.2 %) ใกล้สู่เป้าหมาย 445,624 คน ต้องขอขอบคุณในความร่วมมือในการดำเนินงาน

สำหรับการสร้างคลังข้อสอบในระดับเขตพื้นที่ โดยแต่ละเขตพื้นที่จะส่งข้อสอบที่มีคุณภาพเข้าสู่ระบบ PISA Center OBEC เพื่อให้สามารถดาวน์โหลดและนำไปใช้ได้อย่างทั่วถึง โดยมีการนำเข้าข้อมูลแล้วบางส่วน โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 16 พฤษภาคม 2568 เพื่อได้ใช้ประโยชน์ต่อไป และผลการวิเคราะห์การทดลองสอบ Pre PISA ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ผ่านระบบ PISA Style Online Testing รายด้าน ทั้งด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ มาศึกษา แล้วนำวิเคราะห์และวางแผนแก้ไขปัญหาให้เหมาะสมตามบริบทของแต่ละโรงเรียนนั้น ได้มีการสุ่มกลุ่มโรงเรียนกว่า 137 แห่ง เพื่อนำผลการวิเคราะห์ไปสู่การต่อยอด และนำมาจัดทำแนวทางการเสริมสร้างศักยภาพสมรรถนะความฉลาดรู้ในแต่ละวิชา

โดยมาตรฐานที่ต้องปรับปรุงเร่งด่วน อาทิ ใช้กระบวนการเขียนสื่อสาร เขียนเรียงความ ย่อความ และเขียนเรื่องราวในรูปแบบต่าง ๆ เขียนรายงานข้อมูลสารสนเทศและรายงานการศึกษาค้นคว้าอยางมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังสังเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อการสอบ ทั้งด้านเวลาในการทำข้อสอบมีการบริหารจัดการเวลายังไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร นักเรียนยังไม่เข้าใจคำถามในบางคำถาม การหาอักษรหรือสัญลักษณ์บนแป้นคีย์บอร์ดมีความล่าช้า หรือเนื้อหาไม่สัมพันธ์กับข้อสอบ ทำให้การคิดหาคำตอบไม่สอดคล้อง ซึ่งจะดำเนินการแจ้งแนวทางที่เกิดจากการสังเคราะห์นำไปสู่การปฏิบัติในโรงเรียน โดยเริ่มในปีการศึกษาใหม่ ภาคเรียนที่ 1/2568

การส่งเสริมพหุปัญญา

รมว.ศธ. กล่าวว่า การส่งเสริมพหุปัญญา เป็นแนวทางที่ช่วยเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้เด็กสามารถอยู่ในระบบการศึกษาได้ยาวนานขึ้น และได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งจะส่งผลเชิงบวกต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยในระดับสากล จึงฝากให้มีกระบวนการสื่อสารพหุปัญญาไปยัง ผู้บริหาร หน่วยงาน ครู นักเรียน และบุคลากรทุกคน

การส่งเสริมความหลากหลายทางปัญญาของผู้เรียน ถือเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อไปสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม จากผลการสอบ PISA ปี 2022 พบว่าประเทศไทยยังมีสัดส่วนนักเรียนที่มีความสามารถสูงในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในกลุ่ม OECD ซึ่งสถานการณ์นี้อาจส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขัน พัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม และความยั่งยืนของประเทศในระยะยาว

กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้เร่งดำเนินการปรับปรุงระบบการศึกษาให้มีความยืดหยุ่น เพื่อรองรับความต้องการและศักยภาพที่หลากหลายของผู้เรียน ตั้งแต่การออกแบบหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน ตลอดจนกระบวนการประเมินผลผู้เรียน โดยมีการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเด็ก การพัฒนาครูที่มีความเชี่ยวชาญด้าน Gifted and Talent และการจัดทำระบบติดตามตัวเด็ก (Tracking System) เพื่อให้สามารถพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนรายบุคคลได้อย่างเหมาะสม และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) รวมรวมรายงานในส่วนของสถานศึกษาต่อไป

นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาครูประจำการให้มีความเข้าใจในเรื่องพหุปัญญาอย่างลึกซึ้ง พร้อมทั้งส่งเสริมให้เกิดการจับคู่ระหว่างเด็กกลุ่ม Gift and Challenge กับสถานประกอบการต่าง ๆ เพื่อให้เด็กที่มีความสามารถพิเศษหรือศักยภาพเฉพาะด้าน (Talent) ได้ทำงานที่เหมาะสม และสามารถแสดงศักยภาพของตนออกมาได้อย่างเต็มที่

สลากการกุศลเพื่อสนับสนุนทุนการศึกษา

รมว.ศธ. กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ในการออกสลากการกุศลเพื่อสนับสนุนทุนการศึกษา ตามโครงการ “หนึ่งอำเภอ หนึ่งทุน” (ODOS) เพื่อพัฒนาศักยภาพเยาวชนไทย โดยในรอบแรกได้อนุมัติโครงการจำนวน 7 โครงการ วงเงินรวม 5,308.14 ล้านบาท จากกรอบวงเงินที่ได้รับอนุมัติไว้ก่อนหน้านี้จำนวน 10,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2568 ทำให้คงเหลือวงเงินอีก 4,691.86 ล้านบาท สำหรับใช้ในโครงการระยะต่อไป ทั้ง 7 โครงการที่ได้รับการอนุมัติในรอบแรก ได้แก่

  1. โครงการทุนระยะสั้นด้านเทคโนโลยีในต่างประเทศ สำหรับเยาวชนตัวแทนจาก 878 อำเภอทั่วประเทศ และเขตในกรุงเทพมหานครอีก 50 เขต วงเงิน 718.69 ล้านบาท
  2. โครงการทุนการศึกษาระดับ ปวช. จำนวน 60 ทุน และระดับปริญญาตรีในต่างประเทศ จำนวน 140 ทุน รวม 200 ทุน วงเงิน 78.11 ล้านบาท
  3. โครงการทุนปริญญาตรีที่สหรัฐอเมริกา จำนวน 60 ทุน ในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (STEM) วงเงิน 980.71 ล้านบาท
  4. โครงการทุนปริญญาตรีที่สหราชอาณาจักร จำนวน 50 ทุน ในสาขา STEM เช่นกัน วงเงิน 724.69 ล้านบาท
  5. โครงการทุนระดับ ปวช. จำนวน 60 ทุน และปริญญาตรีในออสเตรเลีย 30 ทุน วงเงิน 825.8 ล้านบาท
  6. โครงการทุนปริญญาตรีในประเทศ จำนวน 2,200 คน ในหลักสูตร STEM วงเงิน 1,000 ล้านบาท
  7. โครงการทุนระดับมัธยมปลาย และ ปวช.ในประเทศ จำนวน 4,800 คน ในสาขา STEM เช่นกัน วงเงิน 980.14 ล้านบาท

ทั้งนี้การดำเนินโครงการดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาอย่างทั่วถึง ยกระดับทักษะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับเยาวชนไทย และตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคตอย่างยั่งยืน

“การประชุมประสานภารกิจ ถือเป็นเวทีสำคัญในการพบปะ แลกเปลี่ยน และหารือแนวทางการดำเนินงานร่วมกันของหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการสื่อสารและขับเคลื่อนภารกิจของกระทรวงศึกษาธิการให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งนี้สิ่งสำคัญที่อยากฝากไว้คือการที่บุคลากรทุกคนควรพัฒนาสมรรถนะของตนเองอย่างต่อเนื่อง ผ่านการอบรมและการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะ “ความรู้เป็นสิ่งที่ไม่มีวันหมดอายุ” เปรียบเสมือน “มีดที่ต้องหมั่นลับให้คมอยู่เสมอ” ความรู้ ความสามารถ หรือทักษะของคนเราก็เช่นเดียวกับมีด หากไม่หมั่นฝึกฝนหรือพัฒนาอยู่เสมอ ก็จะใช้งานได้ไม่ดีเหมือนเดิม โดยเฉพาะการเปิดรับและเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ การใช้ AI เพื่อนำมาปรับใช้เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายของกระทรวงศึกษาธิการและรัฐบาล”

อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว
ศุภณัฐ วัฒนมงคลลาภ / วีดิทัศน์
ศศิวัฒน์ แป้นคุ้มญาติ / ภาพ

The post “เพิ่มพูน” ดันความร่วมมือสเปน เดินหน้ายกระดับการศึกษาไทยสู่สากล หนุนสลากการกุศลทุน ODOS เตรียมเปิดเทอมใหม่ พัฒนาเด็กไทยด้วยพหุปัญญาและเทคโนโลยี AI appeared first on กระทรวงศึกษาธิการ.

Share This Article

Related Post