รมว.ศธ. “เพิ่มพูน” เป็นประธานการประชุมประสานภารกิจ ครั้งที่ 11/2568 ชื่นชมทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมในการอำนวยความสะดวกและจัดการสอบเข้า ม.1 และ ม.4 ที่ผ่านมา พร้อมนำ AI มาช่วยสนับสนุนทั้งผู้เรียน ครู ผู้บริหารในการวิเคราะห์และยกระดับกระบวนการเรียนรู้ รับทราบผลลัพธ์และความท้าทายของโรงเรียนไทยผ่านการประเมินคุณภาพภายนอกของ สมศ. ในปีงบประมาณ 2567 พบว่ามีความแตกต่างของคุณภาพระหว่างโรงเรียนแต่ละขนาด พร้อมสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงการดำเนินงานร่วมกัน โดยเฉพาะการนำผลสอบ O-NET มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เผยข่าวดี ศธ. ตั้งจุดบริการอาชีวะ-ขนส่ง อาสาช่วยประชาชน เทศกาลสงกรานต์ 150 จุดทั่วประเทศ เดินหน้าแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดและมาตรการเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษาสังกัด ศธ. ต่อเนื่อง

9 เมษายน 2568 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมประสานภารกิจ ครั้งที่ 11/2568 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ และผ่านระบบ e-Meeting

ภายหลังการประชุม รมว.ศธ. พร้อมด้วยนายพิษณุ พลธี ผู้ช่วยเลขานุการ รมว.ศธ. และนางอมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา แถลงข่าว ณ ห้องแถลงข่าว

รมว.ศธ. กล่าวว่า ช่วงขณะนี้ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทั้งสภาพอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลง ขอให้ทุกคนดูแลรักษาสุขภาพ ขณะเดียวกันก็มีเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้น อย่างแผ่นดินไหว จนมีบุคลากร สถานศึกษา นักเรียนและนักศึกษา ได้รับผลกระทบ ก็ต้องมีการป้องกัน เฝ้าระวังและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

รวมถึงผลกระทบสำหรับการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 1 และมัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่มีการเลื่อนการสอบเข้าฯ และได้ดำเนินการสอบเป็นไปด้วยความเรียบร้อย จากการลงพื้นที่เพื่อให้กำลังใจผู้สอบและผู้ปฏิบัติงาน ต้องขอขอบคุณทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมในการจัดการสอบและอำนวยความสะดวก

ทั้งนี้ได้มอบหมายให้ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ. เป็นประธานคณะทำงานเรื่องการบริหารจัดการสอบทุกรูปแบบ เพื่อลดภาระด้านการสอบของนักเรียน เนื่องจากการลงพื้นที่พบว่าเด็กที่มาเข้าสอบในโรงเรียนขนาดใหญ่ บางคนเดินทางไกลมาจากต่างหวัด จึงอาจต้องปรับวิธีการให้มีความเหมาะสม ตามนโยบายเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา (Anywhere Anytime) ให้สามารถสอบจากที่ใดก็ได้ เพื่อลดภาระนักเรียนและผู้ปกครองให้ได้มากที่สุด พร้อมคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าปีการศึกษาที่ 1/2568 นักเรียนทุกคนจะได้เรียนรู้กับครูฯ ที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเรียบร้อย

นอกจากนี้แม้ว่าสถานการณ์ในระดับโลก อาทิ การปรับขึ้นภาษีของสหรัฐอเมริกา อาจดูไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการศึกษา แต่ก็อยากให้ทุกคนใช้โอกาสนี้ในการเรียนรู้บริบทและปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง พร้อมทั้งวางแผนการใช้จ่ายและการดำเนินชีวิตด้วยความรอบคอบ เพื่อให้สามารถปรับตัวและรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้อย่างเหมาะสม

สรุปสาระสำคัญจากการประชุม ดังนี้

ผลลัพธ์และความท้าทายของโรงเรียนไทยผ่านการประเมินคุณภาพ

รมว.ศธ. กล่าวว่า มิติของผลการประเมินนั้นมีความสำคัญในการนำผลของการวิเคราะห์มาใช้ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานของโรงเรียนต่าง ๆ โดยมีปัจจัยหลักคือ ความรู้ความสามารถของครูผู้สอน ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการยกระดับคุณภาพการศึกษา และเป็นแนวทางในการเน้นการพัฒนาคุณภาพของครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีความสามารถและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างคุณภาพการเรียนการสอนและผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักเรียนให้ดียิ่งขึ้น

การประเมินคุณภาพภายนอกของ สมศ. ในปีงบประมาณ 2567 ได้มีการประเมินโรงเรียนทั้งหมด 5,075 แห่ง พบว่ามีความแตกต่างของคุณภาพระหว่างโรงเรียนแต่ละขนาด ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญพบว่าโรงเรียนส่วนใหญ่มีคุณภาพตรงตามมาตรฐานที่กำหนด โดยคะแนนเฉลี่ยใน 3 ด้านหลักคือ ผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียน การบริหารจัดการและสิ่งสนับสนุนการเรียนรู้ และการสอนและหลักสูตร อยู่ที่ 3.76, 3.79 และ 3.70 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาโดยละเอียด พบว่า โรงเรียนส่วนใหญ่ได้รับการยืนยันว่ามีคุณภาพตามมาตรฐานของ สมศ. โรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษมีคะแนนสูงสุดที่ 4.00 ขณะที่โรงเรียนขนาดเล็กมีคะแนนเฉลี่ยต่ำสุดที่ 3.82 ซึ่งสะท้อนถึงความไม่เสถียรของคุณภาพในโรงเรียนขนาดเล็กที่อาจเสี่ยงไม่สามารถรักษาคุณภาพตามมาตรฐานได้

ในขณะที่โรงเรียนในระดับการศึกษาปฐมวัยภายใต้การดูแลของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีผลการดำเนินงานดีที่สุด คะแนนเฉลี่ยอยู่ในระดับ “ดีมาก” (4.00-4.22) ส่วนโรงเรียนในสังกัดสำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานครมีคะแนนต่ำสุด ซึ่งแสดงถึงความจำเป็นในการพัฒนาโรงเรียนเหล่านี้ให้ทันตามมาตรฐาน นอกจากนี้ โรงเรียนที่ได้นำข้อเสนอแนะจากการประเมินไปปรับใช้มีแนวโน้มได้คะแนนสูงกว่าโรงเรียนที่ไม่ได้นำไปปรับใช้ ทำให้การติดตามผลและการสนับสนุนหลังการประเมินเป็นสิ่งสำคัญในการยกระดับคุณภาพการศึกษา

การพัฒนาการศึกษาในปัจจุบันจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายด้าน ที่จะสามารถยกระดับคุณภาพการศึกษาให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะในกระบวนการสอบคัดเลือก ซึ่งปัจจุบันมีรูปแบบที่หลากหลาย อาทิ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ โรงเรียนในเครือวิทยาศาสตร์จุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย และจำเป็นต้องพิจารณาด้วยว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง สพฐ. สมศ. และ สทศ. จะสามารถเชื่อมโยงการดำเนินงานร่วมกันได้อย่างไร โดยเฉพาะการนำผลสอบ O-NET มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ในด้านของข้อสอบยังมีประเด็นเรื่องการใช้ข้อสอบพิเศษและข้อสอบทั่วไปในการคัดเลือกเข้าห้องเรียน ซึ่งล้วนมีผลต่อการพัฒนามาตรฐานและคุณภาพการศึกษาในภาพรวม ทั้งหมดนี้จะต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้เกิดระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาประเทศในระยะยาว

AI Mapping for Education Development

รมว.ศธ. กล่าวว่า ถือเป็นมิติที่ดีในการนำ AI มาช่วยสนับสนุนทั้งผู้เรียน ครู และผู้บริหารในการวิเคราะห์และยกระดับกระบวนการเรียนรู้ อาทิ การใช้ AI ในการประเมินผลการเรียนรู้ การพัฒนาหลักสูตร และการปรับแนวทางการผลิตครูให้สามารถรองรับการใช้ AI ในการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับรายงานการจัดทำแผนการใช้ AI เพื่อการพัฒนาการศึกษาในมิติที่เกี่ยวข้อง โดยการนำ Generative AI และมีการประเมินความพร้อมของระบบการศึกษาใน 4 มิติ ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐาน บุคลากร การจัดการเรียนการสอน และการบริหารจัดการศึกษา เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการศึกษา ในระยะปี 2568 – 2570 ผู้กำหนดนโยบายต้องตระหนักถึงประเด็นสำคัญ อาทิ ระบบการศึกษาที่ขับเคลื่อนและได้รับการสนับสนุนทางการเงิน การเรียนรู้ตลอดชีวิตและการเรียนรู้ภายนอกกรอบสถาบัน การพัฒนาแนวทางการศึกษาที่เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงและแนวโน้มใหม่ในวงการศึกษา การเตรียมความพร้อมสำหรับการเรียนรู้ในวัยเด็กและการขาดแคลนครู รวมถึงการส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ด้วย AI ในระบบการศึกษา

การขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพการศึกษา

รมว.ศธ. กล่าวว่า ขอบคุณทุกคนที่ร่วมมือกันขับเคลื่อนงานต่าง ๆ ในการส่งเสริมและขยายผลการอบรมการสร้างและพัฒนาข้อสอบที่สอดคล้องกับมาตรฐาน PISA เป็นอย่างดี มอบหมาย สกศ. เป็นหลักในการจัดทำนโยบาย และ สพฐ. เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อน พร้อมด้วยทุกหน่วยงานในสังกัด นอกจากจะขับเคลื่อนในกระทรวงศึกษาธิการแล้ว ยังต้องขับเคลื่อนไปยังทุกหน่วยงานที่มีสถานศึกษาเพื่อให้เดินหน้าไปพร้อมกัน

ด้านความก้าวหน้าในการขยายผลการอบรมการสร้างและพัฒนาข้อสอบ PISA ในระดับเขตพื้นที่มีผู้ลงทะเบียนแล้วกว่า 429,603 คน ใกล้สู่เป้าหมาย 100% และมีผู้ที่ผ่านการอบรมแล้วเสร็จจำนวน 326,375 คน ในกระบวนการขยายผลนี้จะมีการคัดเลือกผลงานการสร้างข้อสอบจากแกนนำในแต่ละเขตพื้นที่ เพื่อนำเสนอผลการดำเนินงาน รวมถึงลักษณะและคุณภาพของข้อสอบที่ได้รับการพัฒนาตามมาตรฐาน PISA เพื่อประเมินผลการดำเนินงานและคัดเลือกผลงานที่บรรลุผลสำเร็จ

สำหรับกิจกรรม “เพิ่มพูน” สมรรถนะความฉลาดรู้ ระยะที่ 1 จะเริ่มดำเนินการในเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2568 ซึ่งจะทบทวนเนื้อหาการอ่าน วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ผ่านช่องทางต่าง ๆ และมีการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งแผนการดำเนินงานขับเคลื่อนที่สำคัญในเดือนเมษายน คือการประมวลผลการสร้างข้อสอบและพัฒนาข้อสอบสำหรับแกนนำที่ลงทะเบียนเข้ารับการอบรม ส่วนในเขตพื้นที่จะจัดทำคลังข้อสอบที่มีคุณภาพ และมีการประมวลผลการสอบในชั้น ม.2 และการเติมเต็มเพื่อเพิ่มความเข้มข้นเตรียมความพร้อมทุกด้านสำหรับโรงเรียนกลุ่มเป้าหมาย

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2568 ที่เกี่ยวข้องกับ ศธ.

รมว.ศธ. กล่าวว่า มติคณะรัฐมนตรีที่สำคัญ ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ เห็นชอบตามที่ ศธ. เสนอพิจารณาอนุมัติแต่งตั้งข้าราชการ พลเรือนสามัญ สังกัด ศธ. ให้ดำรงตำแหน่งประเภท บริหารระดับสูง จำนวน 2 ราย ได้แก่ นายธนู ขวัญเดช รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) และนายปรีดี ภูสีน้ำ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

รวมทั้งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบโครงการจัดทำบ้านพักข้าราชการ (บ้านหลวง) ภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) ซึ่งดำเนินการโดยกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ในโครงการดังกล่าวประกอบด้วยทั้งหมด 91 โครงการ รวมจำนวน 1,253 หน่วยงาน ภายในวงเงินงบประมาณ 1,170,768,084 บาท โดยคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลเต็มจำนวน พร้อมทั้งมอบหมายให้สำนักงานงบประมาณ (สงป.) จัดสรรเงินสนับสนุนจำนวนดังกล่าวให้แก่กระทรวงศึกษาธิการและสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เพื่อดำเนินโครงการตามแผนต่อไป

อาชีวะ-ขนส่ง อาสาช่วยประชาชน : เทศกาลสงกรานต์ 2568

รมว.ศธ. กล่าวว่า ในห้วงเทศกาลสงกรานต์ 2568 นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการ ในการดูและความปลอดภัยของประชาชน โดย ศธ. ได้ดำเนินโครงการบูรณาการตั้งจุดบริการอำนวยความสะดวกเพื่อความปลอดภัยในการเดินทางช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ พ.ศ. 2568 “สงกรานต์ปลอดภัย เดินทางไปไหนก็มีความสุข” ตั้งแต่วันที่ 11 – 17 เมษายน 2568 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กรมการขนส่งทางบก และเครือข่ายภาคเอกชน เพื่อส่งเสริมความปลอดภัยในการเดินทางและสร้างจิตสำนึกในการขับขี่ที่ปลอดภัยในช่วงเทศกาลสำคัญของประเทศ และมุ่งสร้างทักษะวิชาชีพและจิตอาสาให้กับเยาวชน โดยผู้เรียนในสาขาอาชีวศึกษาจะได้รับโอกาสในการฝึกปฏิบัติจริงในการให้บริการประชาชนในช่วงเทศกาล และจะมีการ Kick off เปิดจุดบริการอาชีวะ-ขนส่ง อาสาช่วยประชาชน : เทศกาลสงกรานต์ 68 ในวันศุกร์ที่ 11 เมษายน 2568 ที่จะถึงนี้ ณ ปั้ม ปตท. ราชพฤกษ์ กม.15 จ.ปทุมธานี

ความร่วมมือในครั้งนี้ จะมีการตั้งจุดบริการฯ 150 จุด ในกรุงเทพมหานคร และอีก 76 จังหวัดทั่วประเทศ ครอบคลุมเส้นทางที่มีการคมนาคมหนาแน่นและใกล้เคียงชุมชน (ทางหลวงแผ่นดิน : ถนนสายหลัก และทางหลวงชนบท : ถนนสายรอง) ตั้งแต่ 06.00 น. – 18.00 น. โดยจะให้บริการเบื้องต้นในการตรวจสภาพรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถพลังงานไฟฟ้า และซ่อมแซมยานพาหนะในกรณีฉุกเฉิน รวมถึงการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง และให้คำแนะนำเส้นทางเพื่อความสะดวกและปลอดภัยแก่ผู้เดินทาง ตลอดจนมีอินเทอร์เน็ต นวดผ่อนคลาย น้ำดื่ม ผ้าเย็น เตียงพักผ่อนแก่ผู้ที่อ่อนเพลียจากการขับขี่ยานพาหนะ เป็นการเช็คทั้งรถเช็คทั้งคนไปในตัว

การแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดและมาตรการเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษาสังกัด ศธ.

รมว.ศธ. กล่าวว่า คณะกรรมการขับเคลื่อนแผนและมาตรการเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า ศธ. ดำเนินการจัดทำแผนและมาตรการขับเคลื่อนเกี่ยวกับการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าของกระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้แผนปฏิบัติการควบคุมการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า ในระยะเร่งด่วน ระยะสั้น และระยะยาว ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งมี 3 ยุทธศาสตร์หลัก ในการปราบปรามโดยการบังคับใช้กฎหมาย ด้านการป้องกันการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า และการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า

ยุทธศาสตร์ที่ 1 ด้านการปราบปรามโดยการบังคับใช้กฎหมาย มีมาตรการในการปราบปรามมิให้บุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาภายในประเทศ และปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าภายในประเทศ

ยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการป้องกันการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า ใช้มาตรการในการสร้างความตระหนักรู้ โดยการประสานและสร้างเครือข่ายการทำงานเชิงรุกร่วมกับทีมสหวิชาชีพจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การป้องปรามภายในโรงเรียนและสถานศึกษา

ยุทธศาสตร์ที่ 3 ด้านการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า มีมาตรการในการสร้างความตระหนักรู้ในสื่อสาธารณะเป็นวงกว้าง การแก้ไขกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียน พ.ศ. 2548 การตรากฎหมายเฉพาะที่เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าระดับพระราชบัญญัติ ซึ่งเป็นการจัดทำหรือปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ซึ่งการแก้ไขนั้นต้องการความร่วมมือจากหลายภาคส่วน

โดยเฉพาะจากครู ผู้ปกครอง และนักเรียน รวมไปถึงการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การปฏิบัติการตามแผนฯ ประสบผลสำเร็จ ดังนั้นควรมีการสื่อสารและประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง ให้ประชาชนได้เข้าใจถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ในทุกรูปแบบ การจัดการปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าจึงสามารถประสบผลสำเร็จในระยะยาวและช่วยให้สถานศึกษามีสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยจากการแพร่ระบาดและพฤติกรรมที่เป็นอันตรายต่าง ๆ ได้

“การพัฒนาการศึกษาไม่เพียงแต่เป็นการวางรากฐานสำหรับอนาคตของเยาวชน แต่ยังเป็นการเสริมสร้างประเทศให้แข็งแกร่ง การร่วมมือกันในทุกภาคส่วนจึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่การศึกษาไทยที่มีคุณภาพและตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน” รมว.ศธ. กล่าว

อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว
อินทิรา บัวลอย / ภาพ
ศุภณัฐ วัฒนมงคลลาภ / วีดิทัศน์

The post “เพิ่มพูน” นำ AI ช่วยอัปเดตแผนพัฒนาการศึกษา พร้อมมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ใช้ผลสอบ O-NET ให้เกิดประโยชน์สูงสุด appeared first on กระทรวงศึกษาธิการ.

Share This Article

Related Post